[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ไซโค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไซโค
โปสเตอร์ภาพยนตร์
กำกับอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก
เขียนบทนวนิยาย:
โรเบิร์ต บล็อช
บทภาพยนตร์
โจเซฟ สเตฟาโน่
อำนวยการสร้างอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก
อัลมา เรวิลล์
นักแสดงนำแอนโธนี่ เพอร์กิ้นส์
เจเน็ต ลีห์
วีร่า ไมล์ส
จอห์น เกวิน
มาร์ติน บัลซั่ม
จอห์น แมคอินไตร์
กำกับภาพจอห์น แอล. รัสเซลล์
ตัดต่อจอร์จ โทมาชินี่
ดนตรีประกอบเบอร์นาร์ด เฮอร์มานน์
ผู้จัดจำหน่ายพาราเมาต์/ ยูนิเวอร์แซล
วันฉาย16 มิถุนายน ค.ศ. 1960
ความยาว109 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง806,948 ดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน32,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในสหรัฐอเมริกา 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2004 จากทั่วโลก)
ต่อจากนี้Psycho II (ค.ศ. 1983)
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ไซโค (อังกฤษ: Psycho) ภาพยนตร์แนวระทึกขวัญจิตวิทยาเรื่องที่โด่งดังและเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก สร้างจากนวนิยายของ โรเบิร์ต บล็อช เป็นภาพยนตร์ขาวดำ ความยาว 109 นาที ฉายในปี ค.ศ. 1960 และฉายในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2504 โดยไม่มีชื่อภาษาไทย และได้นำกลับมาสร้างใหม่ในปี ค.ศ. 1998 โดยใช้ชื่อเดียวกัน

เนื้อเรื่องย่อ

[แก้]

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม แมเรี่ยน เครน (เจเน็ต ลีห์) เลขานุการสาวขโมยเงินจำนวน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากนายจ้างของเธอ โดยหนีไปจากเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา หวังจะไปหา แซม (จอห์น เกวิน) คู่หมั้นหนุ่มของเธอ แต่เธอขับรถหลงทางและขณะที่ฝนตก เธอได้หลงเข้าไปในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ชื่อ "BATES MOTEL" ที่มีบ้านทรงโกธิคอยู่ด้านหลัง เจ้าของโรงแรมเป็นชายหนุ่มท่าทางขี้อาย ชื่อ นอร์แมน เบตส์ (แอนโธนี่ เพอร์กิ้นส์) เธอได้พักที่โรงแรมแห่งนี้ เมื่อพูดคุยกันเธอได้รู้ว่านอร์แมนมีแม่ที่สติไม่ค่อยดี และสร้างความอึดอัดใจให้กับนอร์แมนเสมอๆ เธอเสนอให้นอร์แมนพาแม่ไปที่โรงพยาบาล แต่นอร์แมนปฏิเสธ เมื่อเธอเข้าห้องพักและอาบน้ำ ความสยองขวัญก็ได้เกิดขึ้น

หลังจากนั้น ไลล่า เครน (วีร่า ไมล์) น้องสาวของแมเรี่ยนก็ออกตามหาพี่สาวของเธอซึ่งหายไปอย่างสาบสูญ เธอตามไปพบแซม แต่แซมปฏิเสธไม่รู้เรื่อง ทั้งคู่ได้ออกตามหาความจริง และได้พบกับนักสืบคนหนึ่งชื่อ อาร์โบกาส (มาร์ติน บัลซั่ม) อาร์โบกาสเหมือนจะรู้เรื่องทั้งหมด จึงเป็นฝ่ายอาสาออกตามหาแมเรี่ยนเอง และเมื่ออาร์โบกาสได้เข้าไปใน BATES MOTEL ก็หายสาบสูญไปอีกคน

ไลล่า และแซม ไปขอความช่วยเหลือจาก นายอำเภอ (จอห์น แมคอินไตร์) แต่นายอำเภอก็ไม่อาจช่วยอะไรได้มากนัก จึงออกตามหาเองและได้เข้าไปในเบตส์ โมเต๊ล ทั้งคู่ได้สืบเสาะหาความจริงจากโรงแรมแห่งนั้น ความจริงที่น่าสยองขวัญทั้งหมดจึงถูกเปิดเผยขึ้น

ตัวอย่างภาพยนตร์ (นำเสนอโดย อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก)

มรดก

[แก้]
บ้านทรงแคลิฟอร์เนียโกธิคของนอร์แมน เบตส์ ที่อยู่หลังโรงแรม

ไซโค นับเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสมัยนั้น เพราะมีฉากรุนแรงหลายฉากโดยเฉพาะฉากฆาตกรรมในห้องน้ำอันลือลั่น ที่แท้ที่จริงแล้วมีดไม่ได้ปักลงไปในตัวของแมเรี่ยน เครน เลย เป็นฉากที่ถ่ายทำออกมาชวนให้ผู้ชมคล้อยตามภาพยนตร์ไปนั่นเอง และมีภาพแสดงให้เห็นโถส้วมซึ่งในสมัยนั้น ถือว่าเป็นสิ่งไม่สมควรนำเสนอออกทางสื่อ

อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมว่าเป็นภาพยนตร์ที่เพียบพร้อมไปด้วยศิลปะและความบันเทิงไปพร้อมกันและยังเป็นภาพยนตร์ที่มีประเด็นให้วิเคราะห์ตีความทางจิตวิทยาอย่างที่ไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนทำได้มาก่อน[1]

นอกจากนี้แล้ว ไซโคยังเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยทอดพระเนตรถึงในโรงภาพยนตร์ โดยเสด็จทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2504 ณ โรงภาพยนตร์พาราเมาต์[2]

ความนิยม

[แก้]

หลังจากประสบความสำเร็จแล้ว ไซโคก็มีการสร้างเป็นภาคต่อมาอีก 3 ภาค ในปี ค.ศ. 1983, ค.ศ. 1986 และ ค.ศ. 1990 แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้กำกับหรือสร้างโดยฮิตช์ค็อกอีกแล้ว แต่นำแสดง กำกับ และอำนวยการสร้างโดย แอนโธนี่ เพอร์กิ้นส์ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับการยกย่องหรือกล่าวขานอีกเลยเหมือนต้นฉบับ

ในปี ค.ศ. 1998 กัส แวน แซงต์ ผู้กำกับชาวอเมริกันเชื้อสายดัตช์ได้นำ ไซโค ฉบับปี ค.ศ. 1960 ขึ้นมาใหม่ โดยลอกฉากเดิมมาทั้งหมด แต่ถ่ายทำเป็นฟิล์มสีและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางส่วนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย กำกับภาพโดย คริสโตเฟอร์ ดอยล์ แต่ได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นภาพยนตร์ยอดแย่ประจำปี

และในปี ค.ศ. 2013 เรื่องราวของไซโค ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ในชื่อเรื่อง BATES MOTEL ที่กล่าวถึงตำนานการเริ่มต้นของโรงแรม BATES MOTEL โดยเหตุการณ์ในซีรีส์จะเล่าย้อนกลับไปที่ช่วงเวลาที่ นอร์แมน เบตส์ ยังเป็นเด็กวัยรุ่น แต่นำเสนอในยุคปัจจุบันและอาศัยอยู่กับแม่ของเขา ซึ่งมาเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยการซื้อบ้านและโรงแรม โดยผู้ที่รับบทเป็น นอร์แมน เบตส์ ในซีรีส์ทางโทรทัศน์เรื่อง BATES MOTEL คือ เฟรดดี้ ไฮร์มอร์[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือ ตำนานระทึกขวัญ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อค โดย ประวิทย์ แต่งอักษร สำนักพิมพ์ แพรว (กรุงเทพ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543) ISBN 974-85060-0-2
  2. 2.0 2.1 หน้า 147, Psycho. "HIS MAJESTY'S FAVORITES". นิตยสาร THAILAND LOPTIMUM: No.39 JANUARY 2016

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]