[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

โลเรนโซ กีแบร์ตี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โลเรนโซ กีแบร์ตี บน "ประตูสวรรค์" (Gates of Paradise) ที่หอศีลจุ่มซานจิโอวานนี (Battistero di San Giovanni) ที่ฟลอเรนซ์
งานของโลเรนโซ กีแบร์ตี ที่ชนะการประกวดเมื่อปี ค.ศ. 1401 ซึ่งยังเป็นฉากแบบยุคกลาง แต่รูปนี้ไม่มีบน "ประตูสวรรค์" เมื่อสร้าง
"ประตูสวรรค์" ประตูที่เห็นในปัจจุบันเป็นประตูที่ทำเลียนแบบของจริง
พระเจ้าสร้างอาดัมและอีฟบานภาพจาก "ประตูสวรรค์"

โลเรนโซ กีแบร์ตี (อิตาลี: Lorenzo Ghiberti; ชื่อเมื่อแรกเกิด: Lorenzo di Bartolo; ค.ศ. 1378 - 1 ธันวาคม ค.ศ. 1455) เป็นประติมากรสมัยศิลปะเรอแนซ็องส์ตอนต้นคนสำคัญของประเทศอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีความเชี่ยวชาญทางประติมากรรม งานโลหะ และจิตรกรรมฝาผนัง

ชีวิต

[แก้]

โลเรนโซ กีแบร์ตี เกิดที่ฟลอเรนซ์ บิดาชื่อบาร์โตลุชโช กีแบร์ตี ศิลปินและช่างทองผู้เป็นผู้ฝึกโลเรนโซในงานแขนงเดียวกัน เมื่อเรียนสำเร็จกีแบร์ตีก็ไปทำงานกับบาร์โตลุชโช เด มีเกเล (Bartoluccio de Michele) ซึ่งเป็นที่ฝึกงานของฟีลิปโป บรูเนลเลสกี เมื่อกาฬโรคระบาดในยุโรปมาถึงฟลอเรนซ์ราว ค.ศ. 1400 กีแบร์ตีก็ย้ายไปแคว้นโรมัญญา และไปช่วยเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่ปราสาทของการ์โล ที่ 1 แห่งมาลาเตสตาจนเสร็จ

กีแบร์ตีมามึชื่อเสียงเมื่อชนะการประกวดออกแบบประตูสัมฤทธิ์สำหรับหอศีลจุ่มซานจิโอวานนี (Battistero di San Giovanni) สำหรับมหาวิหารฟลอเรนซ์เมื่อปี ค.ศ. 1401 บรูเนลเลสชีได้เป็นที่สอง ตามแผนเดิมบนบานประตูจะเป็นฉากเรื่องราวจากพันธสัญญาเดิม ซึ่งบานตัวอย่างเป็นฉาก "เอบราฮัม สังเวยไอซัก" (Sacrifice of Isaac) แต่เมื่อถึงเวลาสร้างจริงเปลี่ยนมาเป็นฉากจากพันธสัญญาใหม่แทนที่

ในการสร้างประตู กีแบร์ตีต้องสร้างเวิร์กชอปใหม่ และฝึกศิลปินหลายคนให้เป็นผู้ช่วยเช่น โดนาเตลโล, มาโซลีโน ดา ปานีกาเล, มีเกลอซโซ, ปาโอโล อุชเชลโล และอันโตนีโอ ปอลลายูโอโล (Antonio Pollaiuolo) กีแบร์ตีใช้วิธีหล่อที่เรียกว่า "cire perdue" หรือ "lost-wax casting" ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันในสมัยโรมัน ซึ่งทำให้เวิร์คชอพของกีแบร์ตีเป็นที่นิยมของศิลปินรุ่นหนุ่ม

เมื่อหล่อเสร็จ 28 แผ่น กีแบร์ตีก็ได้รับการต่อสัญญาให้สร้างชุดที่สองสำหรับอีกประตูหนึ่งแต่ครั้งนี้เป็นฉากจากพันธสัญญาเดิม แทนที่จะเป็น 28 ฉากกีแบร์ตีทำเป็นฉากสี่เหลี่ยมสิบฉากคนละลักษณะจากแบบเดิมที่ทำมา ชุดที่สองมีลักษณะเป็นธรรมชาติมากกว่า และเริ่มมีการใช้ทัศนียภาพที่ทำให้ดูมีความลึกขึ้น และเป็นการแสดงภาพแบบ "เลิศลอย" (idealization) มากกว่าเดิม มีเกลันเจโลเรียกประตูนี้ว่า "ประตูสวรรค์" (Gates of Paradise) "ประตูนรก " (Gates of Hell) โดยโอกุสต์ รอแด็ง ได้รับอิทธิพลจาก "ประตูสวรรค์" ของกีแบร์ตี

หลังจากนั้นกีแบร์ตีก็ได้รับสัญญาให้ทำอนุสาวรีย์สัมฤทธิ์ปิดทองสำหรับซุ้มภายในชาเปลออร์ซานมีเกเล (Orsanmichele) ที่ฟลอเรนซ์ รูปหนึ่งเป็นนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ สำหรับสมาคมพ่อค้าขนแกะ อีกรูปหนึ่งเป็นนักบุญแม็ทธิวอีแวนเจลลิส สำหรับสมาคมนายธนาคารและนักบุญสตีเฟน สำหรับสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขนแกะ

นอกจากจะเป็นศิลปินแล้วกีแบร์ตียังเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้ชอบสะสมศิลปะคลาสสิก กีแบร์ตีมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ปรัชญามนุษยนิยม งานเขียนของกีแบร์ตีที่ไม่เสร็จชื่อ "Commentarii" เป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าของศิลปะเรอแนซ็องส์รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติของกีแบร์ตีเอง และเป็นเอกสารที่สำคัญฉบับหนึ่งที่จอร์โจ วาซารี ใช้ในการเขียนหนังสือ "ชีวิตจิตรกร, ประติมากร, และสถาปนิกผู้ดีเด่น" (Le Vite)

กีแบร์ตีเสียชีวิตที่ฟลอเรนซ์เมื่ออายุ 77 ปี

"ความคิดเห็น"

[แก้]

"ความคิดเห็น" หรือ "I Commentari" หรือ "The Commentaries" เป็นหนังสือสามเล่มเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของศิลปะโบราณ กีแบร์ตีย้ำความเห็นของวิทรูเวียสว่าศิลปินจำเป็นต้องมีพื้นฐานทางปัญญาในการสร้างงานศิลปะ และกล่าวต่อไปว่าศิลปินต้องมีพรสวรรค์ตามธรรมชาติและการฝึกอย่างเป็นทางการ และอ้างอิงไปถึงงานวาดและการเขียนแบบทัศนียภาพว่าเป็นพื้นฐานของงานจิตรกรรมและประติมากรรม

เล่มที่สองกีแบร์ตีบรรยายจอตโต ดี บอนโดเนและพูดถึง "ยุคกลาง" ซึ่งรวมการเขียนชีวประวัติศิลปะโดยการบรรยายลักษณะของศิลปะแทนที่จะเป็นเพียงเรื่องเล่า กีแบร์ตีให้รายละเอียดของศิลปินระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 ฉบับนี้มีประโยชน์ต่อนักประวัติศาสตร์เพราะมีคำบรรยายของศิลปะที่ไม่มีหลักฐานใดใดก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นยังรวมชีวประวัติของตัวกีแบร์ตีเอง ซึ่งถือกันว่าเป็นอัตชีวประวัติเล่มแรกที่เขียนโดยศิลปินเอง

เล่มที่สามกีแบร์ตีพยายามวางทฤษฎีสำหรับศิลปะที่เน้นการมองเห็น (optical) รวมทั้งการใช้ reticle ในการช่วยศิลปินสร้างรูปคน

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โลเรนโซ กีแบร์ตี วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ "ประตูสวรรค์" (พันธสัญญาเดิม) วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ประตูด้านเหนือ (พันธสัญญาใหม่)

สมุดภาพ

[แก้]