โจเป๋า
โจเป๋า (ฉือ เปา) | |
---|---|
石苞 | |
เสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – 30 มีนาคม ค.ศ. 273 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 266 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 266 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
มหาขุนพลโจมตีภาคตะวันออก (征東大將軍 เจิงตงต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 266 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
ขุนพลม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 266 | |
กษัตริย์ | โจฮวน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 195[a] อำเภอหนานผี มณฑลเหอเป่ย์ |
เสียชีวิต | 30 มีนาคม ค.ศ. 273[b] |
บุตร |
|
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
ชื่อรอง | จ้งหรง (仲容) |
สมัญญานาม | อู่กง (武公) |
บรรดาศักดิ์ | เล่อหลิงจฺวิ้นกง (樂陵郡公) |
โจเป๋า[1][2][3] (ค.ศ. 195[a] - 30 มีนาคม ค.ศ. 273[b]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ฉือ เปา (จีน: 石苞; พินอิน: Shí Bāo) ชื่อรอง จ้งหรง (จีน: 仲容; พินอิน: Zhòngróng) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ภายหลังเป็นขุนพลและขุนนางของราชวงศ์จิ้นตะวันตก มีตำแหน่งสูงสุดเป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) ในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก
ประวัติช่วงต้น
[แก้]โจเป๋าเป็นชาวอำเภอลำพี้ (南皮縣 หนานผีเซี่ยน) เมืองปุดไฮ (渤海郡 ปั๋วไห่จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอหนานผี มณฑลเหอเป่ย์[7] โจเป๋ารับราชการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในอำเภอลำพี้อันเป็นบ้านเกิด โดยอยู่ในสังกัดของนายกองพันการเกษตร (典農司馬 เตี่ยนหนงซือหม่า)[8]
ในปี ค.ศ. 218 หลังการก่อกบฏของเกียดเป๋ง กัว เสฺวียนซิ่น (郭玄信) ผู้เป็นราชทูต (謁者 เย่เจ่อ) ขอให้นายกองพันการเกษตรหาคนมาเป็นข้าราชบริพารของจักรพรรดิ นายกองพันการเกษตรจึงเลือกเตงงายและโจเป๋า[c] ทั้งสองติดตามกัว เสฺวียนซิ่นไปยังเงียบกุ๋น ตลอดทางเตงงายและโจเป๋าได้สนทนากับกัว เสฺวียนซิ่น ทั้งคู่ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากกัว เสฺวียนซิ่น[9] หลังมาถึงเงียบกุ๋น เรื่องการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางยังไม่ได้ข้อสรุป โจเป๋าจึงขายเหล็กในเงียบกุ๋นเพื่อเลี้ยงชีพ[10] เจ้า ยฺเหวียนหรู (趙元儒) หัวหน้าตลาด (市長 ชื่อจ่าง) ในเงียบกุ๋นมีชื่อเสียงในเรื่องการดูลักษณะบุคคล เมื่อเห็นโจเป๋าก็ชื่นชมเป็นอย่างมากแล้วผูกมิตรกับโจเป๋า[11]
การรับราชการกับวุยก๊ก
[แก้]ในช่วงศักราชชิงหลง (青龍; ค.ศ. 233-237) ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอยแห่งรัฐวุยก๊ก โจเป๋ามาขายเหล็กที่เตียงอั๋น (長安 ฉางอาน) และได้พบกับสุมาอี้ สุมาอี้ชื่นชมโจเป๋าอย่างมากจึงตั้งโจเป๋าให้เป็นเจ้าพนักงานสำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง)[12] ต่อมาโจเป๋าได้ดำรงตำแหน่งนายกองพัน (司馬 ซือหม่า) ในสังกัดของสุมาสูผู้เป็นผู้พิทักษ์ทัพกลาง (中護軍 จงฮู่จฺวิน) และบุตรชายคนโตของสุมาอี้[13] ต่อมาโจเป๋าได้ดำรงตำแหน่งขุนพลราชองครักษ์แห่งนิคมการเกษตร (典農中郎將 เตี่ยนหนงจงหลางเจี้ยง) ที่เงียบกุ๋น ในเวลานั้นอ๋อง (王 หวาง) ทุกพระองค์ในราชวงศ์ของวุยก๊กประทับอยู่ในเงียบกุ๋น และเตงปิดผู้เป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) เป็นผู้มีอำนาจมากโดยอาศัยการปกครองแบบเผด็จการของโจซอง แม้เวลานั้นเตงปิดและโจซองมีอำนาจมาก แต่โจเป๋าก็กล้าที่จะเขียนฎีการายงานราชสำนักเรื่องพฤติกรรมของทั้งสอง โจเป๋าจึงได้รับการยกย่องจากคนจำนวนมาก[14] ต่อมาโจเป๋าดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองตงไหล (東萊郡 ตงไหลจฺวิ้น) และเจ้าเมืองของเมืองลองเอี๋ยหรือลงเสีย (琅邪郡 หลางหยาจฺวิ้น) ตามลำดับ โจเป๋ามีชื่อเสียงและเป็นที่ชื่นชมในทุกที่ที่ไปดำรงตำแหน่ง[15] ต่อมาย้ายไปเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลชีจิ๋ว[16]
ในปี ค.ศ. 252 สุมาเจียวนำอ้าวจุ๋น จูกัดเอี๋ยน และคนอื่น ๆ เข้าโจมตีรัฐง่อก๊ก โจเป๋าได้ติดตามร่วมรบด้วย จูกัดเก๊กผู้เป็นราชครู (太傅 ไท่ฟู่) แห่งง่อก๊กนำทัพเข้าโจมตีทัพวุยก๊กและเอาชนะได้ในยุทธการที่ตังหิน กำลังทหารฝ่ายวุยก๊กแตกพ่าย ทหารถูกเหยียบย่ำหรือจมน้ำตายจำนวนมาก มีเพียงกองกำลังของโจเป๋าที่สามารถล่าถอยโดยไม่ได้รับความเสียหาย สุมาเจียวจึงชี้ไปที่ตราอาญาสิทธิ์ที่ตนถืออยู่แล้วพูดว่า "หวังว่าคงไม่ต้องมอบสิ่งนี้ให้ท่านเพื่อไปทำการใหญ่" ต่อมาไม่นานโจเป๋าได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลสำแดงยุทธ (奮武將軍 เฟิ่นอู่เจียงจฺวิน) ได้รับอาญาสิทธิ์ และได้รับหน้าที่ดูแลราชการทหารทั้งหมดในมณฑลเฉงจิ๋ว[17]
ในปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) โจเป๋าได้รับคำสั่งให้นำกำลังทหารจากมณฑลเฉงจิ๋วร่วมกับกำลังทหารของจิวท่ายและเฮาจิดเพื่อสกัดกั้นกำลังเสริมจากง่อก๊กนอกฉิวฉุนที่ยกมาสนับสนุนการก่อกบฏ ในไม่ช้าง่อก๊กก็ส่งขุนพลจูอี้ เตงฮอง และคนอื่น ๆ ยกพลมาสนับสนุนจูกัดเอี๋ยน จูอี้ให้กองลำเลียงเสบียงประจำอยู่ที่ตูลู่ (都陸) และนำกำลังพลหลักไปตั้งมั่นที่หลีเจียง (黎漿) โจเป๋านำพลเข้าโจมตีกองกำลังของจูอี้จนแตกพ่าย ในช่วงเวลาเดียวนั้น เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) เจ้าเมืองไทสัน (泰山 ไท่ชาน) นำทหารบุกเข้าเผาทำลายเสบียงอาหารของจูอี้ที่ตูลู่จนสิ้น จูอี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรวบรวมทหารที่เหลือล่าถอย ต่อมาซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กสั่งประหารชีวิตจูอี้ จูกัดเอี๋ยนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภายนอกพยายามตีฝ่าวงล้อมของทัพวุยก๊กแต่ไม่สำเร็จ และในที่สุดก็ถูกปราบปรามจนราบคาบในปีถัดมา ภายหลังการฟื้นฟูฉิวฉุน โจเป๋าได้เลื่อนยศเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน) ได้รับบรรดาศักดิ์ตงกวางโหว (東光侯) และได้รับอาญาสิทธิ์[18]
ในปี ค.ศ. 259 โจเป๋ารับหน้าที่ดูแลราชการทหารทั้งหมดในมณฑลยังจิ๋วแทนที่อองกี๋[19]
ในปี ค.ศ. 260 เซียว เชิ่น (蕭慎) แม่ทัพเมืองจี๋หยาง (吉陽) ของรัฐง่อก๊กส่งหนังสือแสร้งยอมจำนนต่อโจเป๋า ขอให้โจเป๋ามาต้อนรับ แต่สุมาเจียวมองออกว่าเป็นกลลวง จึงให้โจเป๋าแสร้งทำเป็นต้อนรับและคอยจับตาระมัดระวังจากภายใน[20] ต่อมาโจเป๋าได้เลื่อนตำแหน่งเป็นมหาขุนพลโจมตีภาคตะวันออก (征東大將軍 เจิงตงต้าเจียงจฺวิน) และขุนพลม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)[21]
ในปี ค.ศ. 265 สุมาเจียวเสียชีวิต สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดฐานันดรศักดิ์จีนอ๋อง (晉王 จิ้นหวาง) โจเป๋าและขุนพลตันเกี๋ยนทูลโจฮวนจักรพรรดิแห่งวุยก๊กหลายครั้งว่ารัฐวุยก๊กถึงคราวสิ้นสุดแล้ว โน้มน้าวพระองค์ให้คล้อยตามลิขิตฟ้าและสละราชบัลลังก์[22]
การรับราชการกับราชวงศ์จิ้น
[แก้]ในปี ค.ศ. 266 โจเป๋าเข้าร่วมในเหตุการณ์ที่สุมาเอี๋ยนบังคับโจฮวนจักรพรรดิแห่งวุยก๊กให้สละราชบัลลังก์ หลังสุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิและก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันตก โจเป๋าได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) และขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) ได้รับบรรดาศักดิ์เล่อหลิงจฺวิ้นกง (樂陵郡公)[23]
ถูกสงสัยว่าจะก่อกบฏ
[แก้]ตั้งแต่การปราบกบฏจูกัดเอี๋ยนในปี ค.ศ. 258 โจเป๋าได้รับมอบหมายให้ดูแลภูมิภาคห้วยหนำ (淮南 หฺวายหนาน) ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งโจเป๋าปฏิบัติราชการอย่างขยันหมั่นเพียร และใช้คุณธรรมทำให้ผู้คนนับถือ แต่หวาง เชิน (王琛) ผู้ควบคุมทัพ (監軍 เจียนจวิน) ของภูมิภาคหฺวายเป่ย์ (淮北) ดูถูกชาติกำเนิดของโจเป๋าว่าต่ำต้อย[24]
ในปี ค.ศ. 268 มีเพลงกล่อมเด็กในท้องถิ่นที่ร้องว่า "ม้า[d]ตัวใหญ่ในวังก็เหมือนลา ไม่อาจสบายภายใต้การกดทับของหิน[e]ก้อนใหญ่ได้" หวาง เชินจึงใช้เรื่องนี้ถวายฎีกาลับกล่าวหาว่าโจเป๋าทรยศราชวงศ์จิ้นและลอบติดตามกับง่อก๊ก หลังจากจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนได้รับฎีกาลับ และก่อนหน้านี้มีหมอดูที่สังเกตเมฆมาทูลคำทำนายว่า "ทางใต้จะมีทหารยกขึ้นมา" สุมาเอี๋ยนจึงรู้สึกไม่สบายพระทัยอย่างมาก[25]
ในเวลานั้นซุนโฮจักรพรรดิแห่งง่อก๊กมีรับสั่งให้มหาขุนพลเตงงายและขุนพลจูกัดเจ้งยกทัพเข้าโจมตีหับป๋า (合肥 เหอเฝย์) เตงฮองเขียนจดหมายถึงโจเป๋าเพื่อจะส่งข่าวลวง เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) ข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋วถวายรายงานแจ้งว่าง่อก๊กวางแผนจะบุกโจมตีครั้งใหญ่ โจเป๋าก็ได้ข่าวว่าง่อก๊กจะบุกโจมตี โจเป๋าจึงให้สร้างป้อมปราการกั้นแม่น้ำและเสริมการป้องกัน สุมาเอี๋ยนทรงทราบเรื่องที่โจเป๋าเสริมการป้องกันก็ยิ่งกังวล แม้ว่าเอียวเก๋าเชื่อมั่นว่าโจเป๋าไม่คิดวางแผนก่อกบฏ แต่สุมาเอี๋ยนก็ยังคงทรงรู้สึกไม่สบายพระทัย ประกอบกับเรื่องที่ฉือ เฉียว (石喬) บุตรชายของโจเป๋าถูกเรียกมาเข้าเฝ้าเป็นเวลาหลายวันแล้วแต่ก็ยังไม่มา สุมาเอี๋ยนจึงทรงเชื่อว่าโจเป๋าคิดก่อกบฏและวางแผนจะลอบโจมตี จึงทรงออกพระราชโองการที่ระบุว่าโจเป๋าไม่คำนึงถึงสถานการณ์และทำให้ราษฎรเดือดร้อน จึงให้ปลดโจเป๋าจากตำแหน่ง พระองค์ยังทรงส่งสุมาปองผู้เป็นอ๋องแห่งงีหยง (義陽王 อี้หยางหวาง) และเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) นำทัพใหญ่มุ่งไปโจมตีโจเป๋า และยังมีรับสั่งให้สุมาเตี้ยมผู้เป็นอ๋องแห่งลองเอี๋ย (琅邪王 หลางหยาหวาง) นำทหารจากแห้ฝือ (下邳 เซี่ยพี) ไปตั้งมั่นที่ฉิวฉุน ให้เตรียมใช้กำลังปราบปรามเมื่อโจเป๋าก่อกบฏขึ้น โจเป๋าทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจึงทำตามคำแนะนำของซุน ชั่ว (孫鑠) ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยการแยกออกมาจากกำลังทหารของตนและไปที่ตูถิง (都亭) เพื่อรอรับการลงโทษ สุมาเอี๋ยนจึงทรงไม่เตรียมการป้องกันการก่อกบฏของโจเป๋าอีก ภายหลังโจเป๋ากลับมาที่พระราชวังเพื่อเข้าเฝ้าสุมาเอี๋ยนแล้วจึงกลับไปบ้าน จนถึงเวลานี้โจเป๋าไม่ได้โกรธสุมาเอี๋ยนที่ไม่ทรงไว้วางพระทัยตน แต่โจเป๋ากลับรู้สึกละอายใจที่ตนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ดีได้[26]
หลังโจเป๋าถูกปลดจากตำแหน่ง กัว อี้ (郭廙) ถวายฎีการ้องเรียนเรื่องความอยุติธรรมที่โจเป๋าได้รับ โดยเห็นว่าราชสำนักควรเลื่อนตำแหน่งให้โจเป๋าเป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) สุมาเอี๋ยนทรงยอมรับคำร้องและแต่งตั้งให้โจเป๋าเป็นเสนาบดีมหาดไทย[27] โจเป๋ามีความจงรักภักดีและปฏิบัติราชการอย่างขยันหมั่นเพียร สุมาเอี๋ยนทรงไว้วางพระทัยโจเป๋าอย่างมาก[28]
เสียชีวิต
[แก้]โจเป๋าเสียชีวิตในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 273[b] จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงให้จัดพิธีไว้ทุกข์ในท้องพระโรง พระราชทานเงิน ผ้าไหม และของใช้ในงานศพ พระองค์ยังให้นำโลงศพของโจเป๋าขึ้นรถม้าออกไปทางประตูเล็กด้านตะวันออกของพระราชวัง และพระราชทานสมัญญานามแก่โจเป๋าว่า "อู่กง" (武公)[29]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ชื่อ-ยฺหวี่ (世語) ของกัว ปาน (郭颁) ระบุว่าโจเป๋าและเตงงายมีอายุเท่ากัน[4] จึงอนุมานได้ว่าปีเกิดของโจเป๋าเป็นปีเดียวกันกับปีเกิดของเตงงายคือ ค.ศ. 195
- ↑ 2.0 2.1 2.2 บทชีวประวัติโจเป๋าในจิ้นชูระบุว่าโจเป๋าเสียชีวิตในศักราชไท่ฉื่อ (泰始) ปีที่ 8 (ค.ศ. 272) แต่บทพระราชประวัติสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) ในจิ้นชูและในจือจื้อทงเจี้ยนระบุว่าโจเป๋าเสียชีวิตในวันกุ่ยซื่อ (癸巳) ในเดือน 2 ของศักราชไท่ฉื่อปีที่ 9[5][6] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 273 ในปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ ชื่อ-ยฺหวี่ (世語) ของกัว ปาน (郭颁) ระบุว่าโจเป๋าและเตงงายมีอายุเท่ากัน[4]
- ↑ คำว่า "ม้า" ในภาษาจีนเรียกว่า "หม่า" (馬) คำว่า "หม่า" ยังปรากฏในชื่อสกุลสุมา (司馬 ซือหม่า) ซึ่งเป็นชื่อสกุลของราชวงศ์จิ้น
- ↑ คำว่า "หิน" ในภาษาจีนเรียกว่า "ฉือ" (石) คำว่า "ฉือ" ยังเป็นชื่อสกุลของโจเป๋า (石苞 ฉือ เปา) ด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("พระเจ้าโจมอขัดมิได้ก็รับว่าจะไป จึงมีตรารับสั่งให้เกณฑ์กองทัพในเมืองหลวงทั้งสองเมืองได้ยี่สิบหกหมื่น ตั้งอองกี๋เปนทัพหน้า ตังเขียนเปนปลัดทัพหน้า โจเป๋าเปนปีกขวา จิวท่ายเจ้าเมืองกุนจิ๋วเปนปีกซ้าย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 15, 2024.
- ↑ ("สุมาเจียวเห็นชอบด้วย ก็สั่งให้โจเป๋าจิวท่ายคุมทหารเปนสองกองไปซุ่มอยู่ต้นทางเมืองโจเทาเสีย ให้อองกี๋กับตังเขียนคุมทหารไปซุ่มอยู่ปลายทางนั้น") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 15, 2024.
- ↑ ("ทหารจูกัดเอี๋ยนเห็นสิ่งของตกเรี่ยราย ต่างคนก็เก็บสิ่งของโคแลม้าหาได้ระวังตัวไม่ พอได้ยินเสียงพลุแลประทัดจุดขึ้น แลไปก็เห็นโจเป๋ากับจิวท่ายคุมทหารสองกองตีบุกรุกเข้ามา") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 15, 2024.
- ↑ 4.0 4.1 (鄧艾少為襄城典農部民,與石苞皆年十二三。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ [(泰始九年)二月癸巳,司徒、樂陵公石苞薨。] จิ้นชู เล่มที่ 3
- ↑ (二月,癸巳,樂陵武公石苞卒。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 81
- ↑ (石苞,字仲容,渤海南皮人也。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (縣召爲吏,給農司馬。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (會謁者陽翟郭玄信奉使,求人爲禦,司馬以苞及鄧艾給之。行十餘里,玄信謂二人曰:「子後並當至卿相。」苞曰:「禦隸也,何卿相乎?」) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (既而又被使到鄴,事久不決,乃販鐵於鄴市。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (市長沛國趙元儒名知人,見苞,異之,因與結交。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (初,青龍中,石苞鬻鐵於長安,得見司馬宣王,宣王知焉。後擢為尚書郎,歷青州刺史、鎮東將軍。甘露中入朝,當還,辭高貴鄉公,留中盡日。文王遣人要令過。文王問苞:"何淹留也?"苞曰:"非常人也。"明日發至滎陽,數日而難作。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่เล่มที่ 4.
- ↑ (稍遷景帝中護軍司馬。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (徙鄴典農中郎將。時魏世王侯多居鄴下,尚書丁謐貴傾一時,並較時利。苞奏列其事,由是益見稱。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (曆東萊、琅邪太守,所在皆有威惠。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (遷徐州刺史。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (文帝之敗於東關也,苞獨全軍而退。帝指所持節謂苞曰:「恨不以此授卿,以究大事。」乃遷苞爲奮武將軍、假節、監青州諸軍事。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (及諸葛誕舉兵淮南,苞統青州諸軍,督兗州刺史州泰、徐州刺史胡質,簡銳卒爲遊軍,以備外寇。呉遣大將朱異、丁奉等來迎,誕等留輜重於都陸,輕兵渡黎水。苞等逆擊,大破之。泰山太守胡烈以奇兵詭道襲都陸,盡焚其委輸。異等收餘眾而退,壽春平。拜苞鎮東將軍,封東光侯、假節。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (頃之,代王基都督揚州諸軍事。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (冬十一月,吳吉陽督蕭慎以書詣鎮東將軍石苞偽降,求迎。帝知其詐也,使苞外示迎之,而內為之備。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (後進位征東大將軍,俄遷驃騎將軍。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ ((石苞)後每與陳騫諷魏帝以歷數已終,天命有在。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (及禪位,苞有力焉。武帝踐阼,遷大司馬,進封樂陵郡公,加侍中,羽葆鼓吹。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (自諸葛破滅,苞便鎮撫淮南,士馬強盛,邊境多務,苞既勤庶事,又以威德服物。淮北監軍王琛輕苞素微) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (又聞童謠曰:「宮中大馬幾作驢,大石壓之不得舒。」因是密表苞與呉人交通。先時望氣者云「東南有大兵起」。及琛表至,武帝甚疑之。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (會荊州刺史胡烈表呉人欲大出爲寇,苞亦聞呉師將入,乃築壘遏水以自固。帝聞之,謂羊祜曰:「呉人每來,常東西相應,無緣偏爾,豈石苞果有不順乎?」祜深明之,而帝猶疑焉。會苞子喬爲尚書郎,上召之,經日不至。帝謂爲必叛,欲討苞而隱其事。遂下詔以苞不料賊勢,築壘遏水,勞擾百姓,策免其官。遣太尉義陽王望率大軍征之,以備非常。又敕鎮東將軍、琅邪王伷自下邳會壽春。苞用掾孫鑠計,放兵歩出,住都亭待罪。帝聞之,意解。及苞詣闕,以公還第。苞自恥受任無效而無怨色。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (時鄴奚官督郭暠上書理苞。帝詔曰:「前大司馬苞忠允清亮,才經世務,幹用之績,所曆可紀。宜掌教典,以贊時政。其以苞爲司徒。」) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (苞在位稱爲忠勤,帝每委任焉。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
- ↑ (泰始八年薨。帝發哀於朝堂,賜秘器,朝服一具,衣一襲,錢三十萬,布百匹。及葬,給節、幢、麾、曲蓋、追鋒車、鼓吹、介士、大車,皆如魏司空陳泰故事。車駕臨送於東掖門外。策諡曰武。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.