เรื่องเล่าของสาวรับใช้
ผู้ประพันธ์ | มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด |
---|---|
ประเทศ | แคนาดา |
ภาษา | อังกฤษ |
ประเภท | |
สำนักพิมพ์ | แมกเคลลันด์แอนด์สจวร์ต |
วันที่พิมพ์ | ค.ศ. 1985 (ปกแข็ง) |
ชนิดสื่อ | สิ่งพิมพ์ (ปกแข็งและปกอ่อน) |
หน้า | 311 หน้า |
ISBN | 0-7710-0813-9 |
เรื่องถัดไป | คำให้การจากพยานปากเอก |
เรื่องเล่าของสาวรับใช้ (อังกฤษ: The Handmaid's Tale) เป็นนวนิยายดิสโทเปีย เขียนโดยมาร์กาเร็ต แอ็ตวูด นักเขียนชาวแคนาดา เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1985 นวนิยายมีฉากอนาคตอันใกล้ของนิวอิงแลนด์ที่แปรสภาพเป็นกิเลียด รัฐรวบอำนาจเบ็ดเสร็จแบบปิตาธิปไตยที่ปกครองตามการตีความคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด เรื่องราวบอกเล่าผ่านตัวละครชื่อ ออฟเฟรด หนึ่งใน "สาวรับใช้" กลุ่มสตรีที่มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรแก่ "ผู้บัญชาการ" ชนชั้นปกครองที่เป็นบุรุษ
เรื่องเล่าของสาวรับใช้ ได้รับรางวัลกัฟเวอร์เนอร์ เจเนรัลส์ อะวอดส์ในปี ค.ศ. 1985 และอาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก อะวอดส์ในปี ค.ศ. 1987 ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ปี ค ศ. 1990 อุปรากรปี ค.ศ. 2000 และภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ในปี ค.ศ. 2017 ในปี ค.ศ. 2019 แอ็ตวูดเผยแพร่นวนิยายภาคต่อในชื่อ คำให้การจากพยานปากเอก (The Testament)[5]
เรื่องเล่าของสาวรับใช้ ฉบับภาษาไทยแปลโดยจุฑามาศ แอนเนียน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2018 โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์[6]
เบื้องหลัง
[แก้]แอ็ตวูดได้รับแรงบันดาลใจในการเขียน เรื่องเล่าของสาวรับใช้ จากการพิจารณาคดีแม่มดที่ซาเลม และกระแสสังคม การเมือง และศาสนาในสหรัฐช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980[7] เธอใช้นวนิยายนี้พรรณนาความเชื่อถึงสิ่งที่กลุ่มศาสนาคริสต์ฝ่ายขวาจะกระทำต่อสตรีหากพวกเขามีอำนาจ[8] รวมถึงสำรวจแนวคิดการกดขี่สตรีภายใต้สังคมที่บุรุษเป็นใหญ่ และความพยายามของสตรีในการต่อต้านและได้รับปัจเจกภาพและเสรีภาพ
แอ็ตวูดกล่าวเพิ่มว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจของสาธารณรัฐกิเลียดจากการศึกษากลุ่มพิวริตันในอเมริกาสมัยที่เธอเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอแย้งว่ามุมมองสมัยใหม่ที่มองว่าพิวริตันอพยพมาจากอังกฤษเพื่อสร้างสังคมที่เปิดรับทุกศาสนาในอเมริกานั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด หากแต่ผู้นำพิวริตันต้องการสร้างสังคมเทวาธิปไตยที่ไม่ทนต่อผู้นับถือความเชื่ออื่น[9] นอกเหนือจากสังคมพิวริตันในนิวอิงแลนด์ แอ็ตวูดยังได้รับอิทธิพลในการสร้างระบอบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของกิเลียดจากแนวคิด "สังคมอุดมคติ" ในกัมพูชาและโรมาเนียสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20[10]
เรื่องย่อ
[แก้]หลังก่อเหตุโจมตีที่คร่าชีวิตประธานาธิบดีสหรัฐและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐส่วนใหญ่ "บุตรแห่งยาโคบ" (Sons of Jacob) กลุ่มหัวรุนแรงที่มีแนวคิดเสมือนคริสต์ศาสนาได้ก่อการปฏิวัติ รัฐธรรมนูญสหรัฐถูกยับยั้ง หนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิด และสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนมาปกครองด้วยเผด็จการทหารภายใต้ชื่อสาธารณรัฐกิเลียด ผู้ปกครองระบอบใหม่เริ่มรวบรวมอำนาจผ่านทางการกำจัดกลุ่มอำนาจอื่น จัดระเบียบสังคมใหม่ด้วยการตีความตามพันธสัญญาเดิมอย่างแปลกประหลาด จัดตั้งชนชั้นทางสังคมที่เสริมด้วยความคลั่งศาสนาอย่างสุดโต่ง และบุคคลถูกลิดรอนสิทธิ โดยเฉพาะสตรีที่ต้องสูญเสียสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่งโดยหญิงสาวชื่อ ออฟเฟรด เธอเป็นหนึ่งในสตรีส่วนน้อยที่ยังเจริญพันธุ์ในช่วงเวลาที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมและรังสีจนประชากรส่วนใหญ่เป็นหมัน ออฟเฟรดเป็น "สาวรับใช้" ที่ถูกส่งไปที่บ้านผู้บัญชาการเพื่อทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตร เธอบรรยายถึงหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นครั้งที่สาม สลับกับชีวิตช่วงก่อนและระหว่างการปฏิวัติ อาทิ ความล้มเหลวในการหลบหนีไปแคนาดาพร้อมสามีและบุตร การถูกส่งไปฝึกเป็นสาวรับใช้ ออฟเฟรดได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนักจากเซเรนา จอย ภริยาผู้บัญชาการผู้เป็นอดีตนักร้องนำเพลงสวด หลังทำ "พิธีกรรม" ออฟเฟรดรู้สึกตกใจเมื่อผู้บัญชาการต้องการพบเธอนอกเวลาซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างลับ ๆ ครั้งหนึ่งผู้บัญชาการพาออฟเฟรดไปเรือนหญิงชั่วเยเซเบล ซ่องโสเภณีที่ดำเนินการโดยรัฐบาลที่ผู้ฝ่าฝืนกฎจะถูกส่งมาเป็นหญิงขายบริการที่นี่ และพบกับมอยรา เพื่อนเก่าที่หลบหนีออกจากศูนย์ฝึก
หลายวันต่อมา ออฟเฟรดพบว่าออฟเกลน สาวรับใช้คู่เธอเวลาออกไปจับจ่ายเป็นสมาชิกเมย์เดย์ ฝ่ายต่อต้านที่ต้องการล้มล้างกิเลียด ด้านเซเรนาที่สงสัยว่าผู้บัญชาการอาจเป็นหมันเสนอให้ออฟเฟรดมีเพศสัมพันธ์กับนิก ผู้พิทักษ์ประจำบ้าน แต่หลังจากออฟเกลนหายตัวไป (ทราบภายหลังว่าฆ่าตัวตาย) และเซเรนาพบความสัมพันธ์ลับ ๆ ของผู้บัญชาการกับเธอ ออฟเฟรดจึงเริ่มคิดฆ่าตัวตาย
หลังมีความสัมพันธ์กับนิกหลายครั้ง ออฟเฟรดบอกเขาว่าเธออาจจะตั้งครรภ์ หลังจากนั้นไม่นานมีกลุ่มตำรวจลับที่เรียกว่า "พระเนตร" (the Eyes) มาที่บ้านผู้บัญชาการเพื่อคุมตัวออฟเฟรด โดยนิกแอบบอกเธอว่าแท้จริงคนพวกนี้อยู่ฝ่ายเมย์เดย์เช่นเดียวกับเขา เรื่องราวจบลงเมื่อออฟเฟรดถูกพาตัวขึ้นรถตู้และไม่ทราบชะตากรรม
ในบทส่งท้ายมีลักษณะเป็นบันทึกจากการสัมมนาวิชาการในปี ค.ศ. 2195 ผู้อภิปรายหลักบรรยายว่าออฟเฟรดบันทึกเหตุการณ์ในรูปตลับเทปที่ถอดเสียงโดยนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษายุคกิเลียด
องค์ประกอบภายในเรื่อง
[แก้]เรื่องเล่าของสาวรับใช้ มีฉากในอนาคตแบบดิสโทเปียที่ไม่ระบุปี แต่คาดการณ์ประมาณปี ค.ศ. 2005[11] ในพื้นที่สหรัฐอเมริกาเดิมปกครองโดยรัฐบาลเทวาธิปไตยมูลฐานนิยมนามสาธารณรัฐกิเลียด ซึ่งบุคคลถูกจำแนกและกำหนดให้สวมเครื่องแต่งกายตามหน้าที่ในสังคม
การปฏิบัติต่อสตรีในกิเลียดใช้การตีความตามคัมภีร์ไบเบิลอย่างเคร่งครัด กล่าวคือผู้หญิงเป็นสมบัติหรืออยู่ใต้อำนาจสามี บิดา หรือหัวหน้าครอบครัว พวกเธอไม่มีอำนาจหรือเสรีภาพ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน มีสิทธิ์มีเสียง มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง หรืออ่านหนังสือ เนื่องจากประชากรในอนาคตส่วนใหญ่เป็นหมัน หญิงเจริญพันธุ์จึงเป็นสิ่งมีค่าและจัดการโดยรัฐบาล หญิงเจริญพันธุ์หรือสาวรับใช้จะไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงาน และจะถูกส่งไปที่บ้านผู้บัญชาการเป็นเวลาสองปีเพื่อให้มีบุตร สาวรับใช้จะไม่มีชื่อ พวกเธอถูกเรียกด้วยคำนำหน้า Of ตามด้วยชื่อผู้บัญชาการ เช่น ออฟเฟรด (Offred) หมายถึง "เป็นของเฟรด" (of Fred) และชื่อของพวกเธอจะเปลี่ยนไปเมื่อถูกย้ายไปยังที่ใหม่
บรูซ มิลเลอร์ ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ เดอะ แฮนด์เมดส์ เทล กล่าวว่ากิเลียดเป็น "สังคมที่มีที่มาจากความเข้าใจพันธสัญญาเดิมผิดอย่างร้ายแรง"[12] ทั้งแอ็ตวูดและมิลเลอร์ต่างกล่าวว่าบุตรแห่งยาโคบนั้น "ไม่ใช่ชาวคริสต์ที่แท้จริง"[13] และ "ไม่สนใจศาสนา หากแต่สนใจในอำนาจ"[14] ในกิเลียด หากศาสนจักรใดไม่สนับสนุนการกระทำของบุตรแห่งยาโคบจะถูกกำจัด เควเกอส์ แบปทิสต์ โรมันคาทอลิกถูกประกาศเป็นศัตรูกับบุตรแห่งยาโคบ[14] บุคคลที่แข็งขืนจะถูกประหารชีวิตและแขวนร่างกับกำแพง นักพรตหญิงที่ปฏิเสธละทิ้งความเชื่อจะถือเป็น "อสตรี" และถูกส่งไปนิคม อย่างไรก็ตามชาวยิวได้รับการละเว้นเพราะถือเป็นบุตรแห่งยาโคบ และได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยไปที่อิสราเอล แต่กระนั้นมีการเปิดเผยในบทส่งท้ายว่าเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยชาวยิวส่วนใหญ่ล่มก่อนจะถึงที่หมาย ส่วนชาวยิวที่เลือกอาศัยในกิเลียดจะต้องโทษประหารชีวิตหากพบทำพิธีอย่างลับ ๆ
กลุ่มสตรีในกิเลียด
[แก้]- ภริยาผู้บัญชาการ (Wives)
- สตรีชั้นสูงสุดในสังคม เกิดจากการแต่งงานกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ภริยาจะสวมชุดสีน้ำเงิน เมื่อผู้บัญชาการเสียชีวิต ภริยาจะกลายเป็นหม้ายและสวมชุดสีดำ
- บุตรสาวหรือบุตรี (Daughters)
- สตรีที่เกิดหรือได้รับอุปการะโดยชนชั้นปกครอง พวกเธอจะสวมชุดสีขาวจนกระทั่งแต่งงานซึ่งจัดสรรโดยรัฐบาล
- สาวรับใช้ (Handmaids)
- สตรีเจริญพันธุ์ที่มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรแก่ภริยาผู้เป็นหมัน สาวรับใช้จะสวมชุดสีแดงยาวถึงข้อเท้า หมวกสีขาว กับรองเท้าบูทส์หนัก พวกเธอจะเปลี่ยนไปสวมชุดโปร่งเบากับรองเท้าแตะในช่วงฤดูร้อน และสวมชุดคลุมสีแดง ถุงมือสีแดง กับหมวกสีขาวที่เรียกว่า "ปีก" เนื่องจากมีขนาดใหญ่มากจนบดบังมุมมองด้านข้างของพวกเธอในฤดูหนาว สาวรับใช้จะไปประจำการที่บ้านผู้บัญชาการ เมื่อไม่ได้ประจำการจะอาศัยอยู่ที่ศูนย์ฝึก สาวรับใช้ที่ให้กำเนิดบุตรสำเร็จจะอาศัยอยู่ที่บ้านผู้บัญชาการจนกระทั่งทารกหย่านม จากนั้นพวกเธอจะถูกส่งไปที่ใหม่ โดยหลังจากนี้พวกเธอจะไม่ถูกประกาศเป็น "อสตรี" แม้ว่าพวกเธอจะไม่ให้กำเนิดบุตรอีกก็ตาม
- น้า (Aunts)
- สตรีผู้ฝึกหัด สอดส่อง และลงโทษสาวรับใช้ที่ศูนย์ฝึก พวกเธอสวมชุดสีน้ำตาล น้ามีเสรีภาพสูงเมื่อเทียบกับสตรีกลุ่มอื่น พวกเธอเป็นสตรีกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือ
- แม่บ้านมารธา (Marthas)
- สตรีสูงอายุที่เป็นหมัน มีหน้าที่ดูแลงานบ้านงานเรือนในบ้านผู้บัญชาการ พวกเธอสวมชุดสีเขียว ชื่อมารธามาจากเรื่อง "พระเยซูในบ้านมาร์ธาและแมรี" ในพระวรสารนักบุญลูกา ที่แมรีนั่งฟังพระเยซูตรัสสอน ขณะที่มาร์ธากำลังทำครัว
- ภรรยาชั้นประหยัด (Econowives)
- สตรีที่แต่งงานกับเจ้าหน้าที่ระดับล่าง พวกเธอทำหน้าที่ของสตรีในสังคมทุกอย่าง ได้แก่ ดูแลงานบ้าน แต่งงาน และมีบุตร ภรรยาชั้นประหยัดสวมชุดที่มีแถบหลายสีเพื่อสะท้อนถึงหลายบทบาท
- อสตรี (Unwomen)
- สตรีที่รัฐบาลมองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น นักพรตหญิง สตรีที่ไม่แต่งงาน หญิงรักร่วมเพศ สตรีที่ฝักใฝ่คตินิยมสิทธิสตรี และเห็นต่างทางการเมือง อสตรีจะถูกส่งไปนิคมเพื่อทำงานเกษตรกรรมและกำจัดมลพิษ สาวรับใช้ที่ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรหลังได้รับมอบหมายสามครั้งจะถูกส่งไปนิคมกับอสตรี
พิธีกรรม
[แก้]"พิธีกรรม" คือการร่วมเพศที่มีจุดประสงค์เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น โดยสาวรับใช้จะเอนหลังอยู่บริเวณหว่างขาของภริยาเพื่อเป็นเครื่องหมายถึงการเป็นหนึ่งเดียว ออฟเฟรดบรรยายถึงพิธีกรรมว่า:
กระโปรงแดงของฉันถูกเลิกขึ้นมาถึงเอวแม้จะไม่สูงไปกว่านั้น ต่ำลงไปท่านผู้บัญชาการกำลังเอา สิ่งที่เขากำลังเอาด้วยคือร่างกายท่อนล่างของฉันเอง ฉันไม่ได้บอกว่าร่วมรักเพราะเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น จะว่ามีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ได้ตรงตามนั้นอีกนั่นแหละ เพราะนั่นย่อมมีนัยถึงคนสองคน แต่นี่มีเพียงคนเดียวที่กระทำการ คำว่าข่มขืนก็ไม่ครอบคลุม ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นในที่นี้เป็นไปโดยที่ฉันมิได้ตกลงร่วมด้วย มีทางเลือกอยู่ไม่มากนักแต่ก็มีอยู่บ้าง และนี่คือสิ่งที่ฉันเลือก[15]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Brown, Sarah (15 April 2008). Tragedy in Transition. p. 45. ISBN 9780470691304.
- ↑ Taylor, Kevin (21 September 2018). Christ the Tragedy of God: A Theological Exploration of Tragedy. ISBN 9781351607834.
- ↑ Kendrick, Tom (2003). Margaret Atwood's Textual Assassinations: Recent Poetry and Fiction. p. 148. ISBN 9780814209295.
- ↑ Stray, Christopher (16 October 2013). Remaking the Classics: Literature, Genre and Media in Britain 1800-2000. p. 78. ISBN 9781472538604.
- ↑ "Margaret Atwood announces sequel to The Handmaid's Tale". CBC News, November 28, 2018.
- ↑ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล (October 3, 2019). "In Conversation With Margaret Atwood". The 101 World. สืบค้นเมื่อ January 11, 2021.
- ↑ Regalado, Michelle (August 27, 2019). "9 nightmarish things in 'The Handmaid's Tale' inspired by history". Insider. สืบค้นเมื่อ January 11, 2021.
- ↑ Greene, Gayle (July 1986). "Choice of Evils". The Women's Review of Books. 3 (10): 14–15. doi:10.2307/4019952. JSTOR 4019952.
- ↑ Malak, Amin (Spring 1997). "Margaret Atwood's 'The Handmaid's Tale' and the Dystopian Tradition". Canadian Literature (112): 9–16.
- ↑ Atwood, Margaret (20 January 2012). "Haunted by the Handmaid's Tale". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 3 March 2016.
- ↑ Oates, Joyce Carol (2 November 2006). "Margaret Atwood's Tale". The New York Review of Books. สืบค้นเมื่อ 29 March 2016.
- ↑ O'Hare, Kate (16 April 2017). "'The Handmaid's Tale' on Hulu: What Should Catholics Think?" (ภาษาอังกฤษ). Faith & Family Media Blog. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-26. สืบค้นเมื่อ 18 June 2017.
- ↑ Lucie-Smith, Alexander (29 May 2017). "Should Catholics watch The Handmaid's Tale?". The Catholic Herald (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-04. สืบค้นเมื่อ 18 June 2017.
- ↑ 14.0 14.1 Williams, Layton E. (25 April 2017). "Margaret Atwood on Christianity, 'The Handmaid's Tale,' and What Faithful Activism Looks Like Today" (ภาษาอังกฤษ). Sojourners. สืบค้นเมื่อ 18 June 2017.
- ↑ เรื่องเล่าของสาวรับใช้, มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด เขียน จุฑามาศ แอนเนียน แปล, หน้า 142, พ.ศ. 2561, สำนักพิมพ์ไลบราลี่ เฮ้าส์ กรุงเทพฯ
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เรื่องเล่าของสาวรับใช้