[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

เผ่าอิสสาคาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เผ่าอิสสาคาร์ เป็น 1 ในบรรดา 12 เผ่าของอิสราเอล ตามบันทึกในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ในหมวดพระธรรมเบญจบรรณ และตามพระคัมภีร์โตราห์ในศาสนายูดาย ชื่อของเผ่าอิสสาคาร์นี้ ตั้งขึ้นตามชื่อบรรพบุรุษของพวกเขา อันได้แก่ อิสสาคาร์ ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่เก้าของยาโคบ หรือ อิสราเอล ที่เกิดกับนางเลอาห์ ภรรยาคนแรกของยาโคบ โดยอิสสาคาร์นั้น เป็นบุตรชายคนที่ 5 ที่นางเลอาห์มีให้แก่ยาโคบ

บุตรของยาโคบ ตามชื่อภรรยา (ญ = บุตรสาว)
(ตัวเลขในวงเล็บคือลำดับของการเกิด)
เลอาห์ รูเบน (Reuben) (1) สิเมโอน (Simeon) (2) เลวี (Levi) (3) ดีนาห์ (Dinah) (ญ)
ยูดาห์ (Judah) (4) อิสสาคาร์ (Issachar) (9) เศบูลุน (Zebulun) (10)
ราเชล โยเซฟ (Joseph) (11) เบนยามิน (Benjamin) (12)
เอฟราอิม บุตรโยเซฟ (11.1) มนัสเสห์ บุตรโยเซฟ (11.2)
บิลลาห์
(สาวใช้นางราเชล)
ดาน (Dan) (5) นัฟทาลี (Naphtali) (6)
ศิลปาห์
(สาวใช้นางเลอาห์)
กาด (Gad) (7) อาเชอร์ (Asher) (8)



กำเนิดอิสสาคาร์

[แก้]

เมื่อยาโคบไปอยู่กับลาบัน ลุงของตน ลาบันให้ยาโคบทำงาน 7 ปี เพื่อแลกกับนางราเชล บุตรสาวคนเล็กของตน แต่เมื่อครบ 7 ปีตามกำหนด ลาบันกลับให้ยาโคบแต่งงานกับนางเลอาห์ บุตรีคนโต ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นธรรมเนียมที่คนพี่จะต้องแต่งก่อนคนน้อง ยาโคบจึงต้องทำงานอีก 7 ปีเพื่อให้ได้นางราเชล เมื่ออยู่กินกันนั้น ยาโคบรักนางราเชล และชังนางเลอาห์ พระเจ้าจึงทรงเบิกครรภ์ของนางให้มีบุตรชายแก่ยาโคบ ถึง 4 คนติดต่อกัน

เมื่อนางราเชลเห็นว่าตนไม่สามารถมีบุตรให้แก่ยาโคบได้ นางจึงยกบิลฮาห์ สาวใช้ของนางเองให้เป็นภรรยาน้อยของยาโคบ และนางบิลฮาห์ ก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายแก่ยาโคบ จำนวน 2 คน เมื่อนางเลอาห์ เห็นว่านางบิลฮาห์ ให้กำเนิดบุตรถึง 2 คน นางจึงได้ยก ศิลปาห์ สาวใช้ของนางให้เป็นภรรยาน้อยแก่ยาโคบ และนางศิลปาห์ก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายจำนวน 2 คน

ต่อมาภายหลัง บุตรชายของนางเลอาห์ ได้นำผัก และผลไม้ที่หาจากป่ามาให้มารดา ฝ่ายนางราเชลเห็นเข้า จึงขอแบ่งจากนางเลอาห์ โดยจะให้ยาโคบไปนอนก้บนางเลอาห์ เป็นสินบนในครั้งนั้น และครั้งนั้นเองที่นางเลอาห์ได้ตั้งครรภ์ขึ้น และคลอดบุตรชาย

เหตุที่ได้ชื่อว่า อิสสาคาร์ เนื่องด้วยเมื่อนางเลอาห์ตั้งครรภ์และคลอดลูกคนที่ห้านี้ เป็นบุตรชาย นางได้กล่าวว่า "พระเจ้าทรงประทานสินจ้างนั้นให้แก่ข้าพเจ้า"[1] อิสสาคาร์ Issacar จึงมาจากคำภาษาฮีบรู ที่แปลว่า สินจ้าง นั่นเอง[2]

คำพยากรณ์ของยาโคบที่มีต่ออิสสาคาร์

[แก้]

ก่อนยาโคบจะสิ้นใจ ท่านได้เรียกบรรดาบุตรของท่านมา เพื่อบอกเหตุอันจะเกิดภายหน้าแก่บุตรของท่าน คำพยากรณ์ของยาโคบที่มีต่ออิสสาคาร์ มีดังนี้

"...ฝ่ายอิสสาร์คา เป็นตัวลามีกำลังมาก หมอบลงกลางต่างของมัน เขาเห็นว่าที่พักดีและแผ่นดินสบาย จึงย่อบ่าของตนลงรับไว้ยอมเป็นทาสให้เขาบังคับใช้การงาน ..."[3]


คำอวยพรของโมเสสแก่เผ่าอิสสาคาร์

[แก้]

ก่อนโมเสสจะสิ้นชีวิต พระเจ้าได้ทรงเรียกท่านขึ้นไปยังภูเขาอาบาริม แผ่นดินโมอับ ตรงข้ามเมืองเยรีโค นั้น ที่นั่น โมเสสได้กล่าวอวยพระแก่ชนเผ่าต่าง ๆ ของอิสราเอล โดยบทอวยพรแก่เผ่าอิสสาคาร์ เป็นดังนี้

"...เศบูลุนเอ๋ย จงปีติร่าเริงเมื่อท่านออกไป และอิสสาคาร์เอ๋ย จงปีติร่าเริงในเต็นท์ของตน เขาจะเรียกชนชาติทั้งหลายมาที่ภูเขาและถวายเครื่องสัตวบูชาอันถูกต้องที่นั่น เพราะเขาจะดูดความอุดมจากทะเล และได้ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในทราย"[4]

ดินแดนของเผ่าอิสสาคาร์ในอิสราเอล

[แก้]

เมื่ออิสราเอลได้เข้าไปยังแผ่นดินคานาอัน ได้ขับไล่ชาวเมืองนั้น และยึดครองแผ่นดินได้ทั้งหมดแล้ว จึงได้จับฉลากแบ่งดินแดนกัน ตามที่พระเจ้าทรงบัญชาผ่านโมเสสไว้ โดยเผ่ารูเบน และเผ่ากาด ได้ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน เผ่ายูดาห์ ได้รับมรดกที่ดินด้วยคาเลบผู้นำเผ่านั้นได้รับการอวยพระพรจากพระเจ้า[5] และพงศ์พันธุ์ของยาโคบนั้น ได้รับมรดกในฐานะบุตรหัวปี จึงเหลืออีก 7 เผ่าที่ยังไม่ได้รับมรดก จึงได้นำดินแดนที่เหลือนั้น มีแบ่งเป็น 7 ส่วนและจับฉลากกัน โดยเผ่าอิสสาคาร์ นั้นจับได้ฉลากที่สี่ รวมมรดกที่ดินที่ได้นั้นเป็น 16 หัวเมืองกับชนบทของหัวเมืองนั้น ๆ ด้วย ไปจนถึงแม่น้ำจอร์แดน [6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 29 ข้อที่ 18
  2. พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ฉบับเรียงพิมพ์ใหม่ ปี พ.ศ. 2541 (สมาคมพระคริสตธรรมไทย)
  3. พระธรรมปฐมกาล บทที่ 49 ข้อที่ 14-15
  4. พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 33 ข้อที่ 18-19
  5. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในพระธรรมกันดารวิถี
  6. พระธรรมโยชูวา บทที่ 19