[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

อี กู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อี กู
เจ้าชายแห่งเกาหลี
ประสูติ29 ธันวาคม พ.ศ. 2474
วังคิตาชิรากาวะ จังหวัดโตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
สิ้นพระชนม์16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 (73 ปี)
แกรนด์ปรินซ์โฮเทลอากาซากะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
พระชายาจูเลีย มุลล็อก (2502–2525)
คินูโกะ อาริตะ
ราชวงศ์โชซ็อน
พระบิดาอี อึน
พระมารดาอี พัง-จา
ศาสนาโรมันคาทอลิก

อี กู (เกาหลี이구; ฮันจา李玖; อาร์อาร์I Gu; เอ็มอาร์Yi Ku; 29 ธันวาคม พ.ศ. 2474 — 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548) หรือพระนามในภาษาญี่ปุ่นว่า ริ คีว (ญี่ปุ่น: 李玖โรมาจิRi Kyū) มีพระนามหลังสิ้นพระชนม์ว่า โฮอึนฮวังแทซน (เกาหลี회은황태손; ฮันจา懷隱皇太孫; อาร์อาร์Hoeeun Hwangtaeson; เอ็มอาร์Hoeŭn Hwangt'aeson) เป็นพระโอรสในเจ้าชายอึยมิน มกุฎราชกุมารแห่งเกาหลี กับเจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ เป็นพระราชนัดดาในจักรพรรดิโคจงและเป็นผู้อ้างสิทธิในราชสันตติวงศ์เกาหลีช่วงปี พ.ศ. 2513–2548

พระประวัติ

[แก้]
ขณะมีพระชันษาราว 1 ปี พ.ศ. 2475

อี กู ประสูติ ณ วังคิตาชิรากาวะในกรุงโตเกียว (ปัจจุบันคือแกรนด์ปรินซ์โฮเทลอากาซากะ) เป็นพระโอรสในเจ้าชายอึน มกุฎราชกุมารแห่งเกาหลี กับเจ้าหญิงพังจา มกุฎราชกุมารีแห่งเกาหลี (พระนามเดิม เจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ) มีพระเชษฐาคือ อี จิน ซึ่งถูกลอบปลงพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[1] พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนขุนนางกากูชูอิงในกรุงโตเกียว ก่อนเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยกลางในเมืองแดนวิลล์ รัฐเคนทักกี สหรัฐ และศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หลังสำเร็จการศึกษาจึงทรงงานเป็นสถาปนิกของสำนักงานไอ. เอ็ม. เพและเพื่อน (I.M. Pei & Assocs) ช่วงปี 2503–2507

จากการที่พระองค์ประทับอยู่ในสหรัฐ จึงไม่มีสัญชาติญี่ปุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เจ้าหญิงพังจาเคยบันทึกถึงเรื่องราวดังกล่าวไว้ว่า "[อี กู] ไม่ใช่ทั้งชาวเกาหลีและญี่ปุ่นเพราะทั้งสองประเทศต่างไม่ยอมรับเขา เขาต้องต่อสู้กับความยากลำบากเพียงลำพัง..."[1] ภายหลังพระองค์รับสัญชาติอเมริกันในปี พ.ศ. 2502 และสัญชาติเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. 2507 พระองค์เสกสมรสกับจูเลีย มุลล็อก (Julia Mullock) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ณ โบสถ์ยูเครนคาทอลิกนักบุญจอร์จในนิวยอร์กแต่ไม่มีพระบุตรด้วยกัน ต่อมาจึงรับยูจีเนีย อึนซุก (Eugenia Unsuk) หรือ อี อึน-ซุก (이은숙, 李恩淑) เป็นพระธิดาบุญธรรม และทรงรับอี ว็อน พระญาติฝ่ายพระชนกเป็นพระโอรสบุญธรรม[2]

หลังอี ซึง-มัน ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเกาหลีใต้พ้นจากตำแหน่ง อี กูได้นิวัตแผ่นดินเกาหลีอันเป็นมาตุภูมิจากการช่วยเหลือของพัก ช็อง-ฮีซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ พระองค์ประทับ ณ พระตำหนักนักซ็อนในพระราชวังชังด็อกร่วมกับพระชนนีและพระชายา หลังจากนั้นพระองค์จึงเป็นพระอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และมหาวิทยาลัยย็อนเซ มีผู้อ้างว่าพระองค์มีสัมพันธ์ชู้สาวกับยู วี-จินยาวนานนับสิบปี[3] ภายหลังพระองค์ได้บริหารสายการบินชินฮันแต่กลับล้มละลายในปี พ.ศ. 2522 ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเสด็จกลับประเทศญี่ปุ่นเพื่อทรงหารายได้ จากนั้นก็ทรงขาดการติดต่อกับยู วี-จิน[3] และทรงหย่ากับพระชายาในปี พ.ศ. 2525 ด้วยเหตุผลที่ว่าพระชายาทรงเป็นหมัน[4] หลังเจ้าหญิงพังจาพระชนนีสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2532 พระองค์จึงใช้ชีวิตร่วมกับคินูโกะ อาริตะ (ญี่ปุ่น: 有田絹子โรมาจิArita Kinuko) หรือชื่อเกาหลีว่าอี กย็อน-จา (이견자, 李絹子) หญิงชาวญี่ปุ่นที่ประกอบกิจเป็นคนทรง[1]

อี กูสิ้นพระชนม์ด้วยพระหทัยพิการเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ แกรนด์ปรินซ์โฮเทลอากาซากะ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอดีตวังคิตาชิรากาวะอันเป็นประสูติของพระองค์และเป็นที่ประทับของพระชนกชนนีเมื่อครั้งทรงอยู่ในญี่ปุ่น สิริพระชันษา 73 ปี มีพิธีปลงพระศพในประเทศเกาหลีใต้ด้วยคติขงจื๊อตามพระราชประเพณี[2] และมีพระนามหลังสิ้นพระชนม์ว่าโฮอึนฮวังแทซน

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Hye Jin Lee. "Yi Ku, the Last Prince of the Choson Dynasty". Boston University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-17. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 "Tragic Grandson of Joseon Royal Family, Rest in Peace". The Dong-a Ilbo. 25 กรกฎาคม 2548. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 Chung Jae-suk (24 กันยายน 2553). "A prince and his longtime lover". Korea Joongang Daily. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. Kim Hyung-eun (7 เมษายน 2551). "Nakseonjae as home for last of the Joseons". Korea Joongang Daily. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อี กู
ก่อนหน้า อี กู ถัดไป
อี อึน อ้างสิทธิจักรพรรดิเกาหลี
(พ.ศ. 2513–2548)
อี ว็อน