อิเล็กโทรไลต์
อิเล็กโทรไลต์คือสารที่สามารถแตกตัวเป็นไอออนอิสระเมื่อละลายน้ำหรือหลอมเหลว ทำให้สามารถนำไฟฟ้าได้เนื่องจากโดยทั่วไป สารละลายนั้นจะประกอบไปด้วยไออนจึงมักเรียกกันว่า สารละลายไอออนิก ในบางครั้งอาจเรียกสั้นๆ ว่า ไลต์
โดยปกติแล้วอิเล็กโทรไลต์จะอยู่ในรูปของกรด เบส หรือเกลือ นอกจากนี้ แก๊สบางชนิดอาจทำตัวเป็นอิเล็กโทรไลต์ได้ภายใต้อุณหภูมิสูงและความดันต่ำ
การจำแนกอิเล็กโทรไลต์ออกเป็นอิเล็กโทรไลต์เข้มข้นหรือเจือจางสามารถจำแนกได้จากความเข้มข้นของไอออน ถ้าความเข้มข้นมาก จะเรียกว่า อิเล็กโทรไลต์เข้มข้น แต่ถ้ามีความเข้มข้นของไอออนน้อยจะเรียกว่า อิเล็กโทรไลต์เจือจาง ถ้าสัดส่วนการแตกตัวเป็นไอออนของสารใดมีมาก จะเรียกว่าอิเล็กโทรไลต์แก่ แต่ถ้าสัดส่วนนั้นน้อย(ส่วนใหญ่ไม่แตกตัวเป็นไอออน) จะเรียกว่าอิเล็กโทรไลต์อ่อน
ทางสรีรวิทยา
[แก้]ในทางสรีรวิทยา จะมีไอออนเบื้องต้นคือ โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม คลอไรด์ ฟอสเฟต และไบคาร์บอเนต
สิ่งมีชีวิตชั้นสูงต้องการความสมดุลระหว่างอิเล็กโทรไลต์ภายนอกและภายในเซลล์ การแลกเปลี่ยนไอออนจึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่น สารบางชนิดสามารถควบคุมความเป็นกรด-เบส ในเลือดหรือมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
การควบคุมสมดุลของไอออนถูกควบคุมโดยการกินอาหารที่มีสารอิเล็กโทรไลต์ และควบคุมโดยฮอร์โมน ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งไปควบคุมไตให้ขับไอออนส่วนเกินให้เหลือไว้ในร่างกายเท่าที่ต้องการ ในมนุษย์ การควบคุมไอออนควบคุมโดยฮอร์โมน เช่น แอนติไดยูเรติก อัลโดสเตอโรน และพาราไทรอยด์ การที่มีไอออนในร่างกายไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและระบบประสาท ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากในทางการแพทย์
การวัดปริมาณของอิเล็กทรไลต์ในร่างกายสามารถทำได้โดยการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ แต่ต้องทำไปควบคู่กับการตรวจการทำงานของไต และใช้ข้อมูลจากผลการตรวจที่ผ่านมา โดยการตรวจนี้มักวัดปริมาณของโซเดียมและโพแทสเซียมไอออน แต่การวัดปริมาณคลอไรด์ไอออนต้องใช้วิธีการที่มากกว่านั้น
ทางโภชนาการ
[แก้]เครื่องดื่มที่เป็นอิเล็กโทรไลต์จะประกอบไปด้วยเกลือโซเดียมและโพแทสเซียมซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและไอออนในร่างกายหลังจากที่เสียน้ำออกจากร่างกายจากกการออกกำลังกาย ท้องเสีย อดอาหารหรืออาเจียน การให้น้ำบริสุทธิ์ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดในการรักษาระดับของเหลวในร่างการเพราะน้ำจะไปทำให้เกลือในเซลล์ในร่างกายเจือจางลง ส่งผลต่อการทำปฏิกิริยาเคมีในเซลล์ทำให้เกิดความมึนเมาได้
เครื่องดื่มเกลือแร่หลังการเล่นกีฬาก็เป็นอิเล็กโทรไลต์ที่มีการใส่คาร์โบไฮเดรต เช่น กลูโคส เข้าไปเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้พลังงาน เครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งที่มีความเข้มข้นเท่าเซลล์(ไอโซโทนิก) ความเข้มข้นน้อยกว่าเซลล์(ไฮโพโทนิก) และความเข้มข้นมากกว่าเซลล์(ไฮเพอร์โทนิก) ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน
เครื่องดื่มอิเล็กโทรไลต์สามารถทำเองได้โดยการผสมน้ำตาล เกลือและน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม