สมิงทอพุทธกิตติ
สมิงทอพุทธกิตติ သမိန်ထောဗုဒ္ဓကိတ္တိ | |||||
---|---|---|---|---|---|
กษัตริย์แห่งหงสาวดีฟื้นฟูใหม่ | |||||
ครองราชย์ | 8 ธันวาคม ค.ศ. 1740 – มกราคม ค.ศ. 1747 | ||||
ต่อไป | พญาทะละ | ||||
นายกรัฐมนตรี | พญาทะละ | ||||
ประสูติ | พุกาม? | ||||
สวรรคต | เชียงใหม่? | ||||
ชายา | Thiri Seitta แห่งเชียงใหม่[1] | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ตองอู | ||||
พระราชบิดา | เจ้าแห่งพุกาม | ||||
พระราชมารดา | Thupappa | ||||
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
สมิงทอพุทธกิตติ (พม่า: သမိန်ထောဗုဒ္ဓကိတ္တိ, ออกเสียง: [θə.mèɪ̯ɰ̃ tʰɔ́ boʊ̯ʔ.da̰ keɪ̯ʔ.tḭ] ตะเมนทอโบะดะเกะติ) เป็นพระเจ้าหงสาวดีระหว่าง ค.ศ. 1740 ถึง 1747 พระองค์รวบรวมชาวมอญโค่นล้มราชวงศ์ตองอู ที่ปกครองพม่าตอนล่างได้สำเร็จ และได้รับการเลือกจากชาวมอญให้ขึ้นเป็นกษัตริย์
พระราชประวัติ
[แก้]สมิงทอพุทธกิตติ เคยผนวชเป็นพระภิกษุศึกษาไตรเพทและพยากรณ์จนแตกฉานแล้วสึกออกมารับราชการ มองซวยเยนะระทาเจ้าเมืองหงสาวดีตั้งให้เป็นสมิงทอ[2] ภายหลังธอระแซงมูขุนนางเชื้อสายไทใหญ่ได้จับเจ้าเมืองหงสาวดีฆ่าเสีย แล้วถวายราชสมบัติแก่สมิงทอซึ่งเฉลิมพระนามเป็นพระเจ้าทอพุทธเกษี (อักษรพม่าสะกดว่าพุทธกิตติ) ส่วนธอระแซงมูได้รับแต่งตั้งเป็นพญาทะละ[3] ใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่า สมิงทอมีพระมเหสีสองพระองค์ คือนางเทพลิลาบุตรี ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นมเหสีฝ่ายซ้าย และนางพังพูเป็นมเหสีฝ่ายขวา[4] ส่วน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ว่า มเหสีฝ่ายซ้ายชื่อนางเทพลิลา ธิดาขององค์จันทร์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่วนมเหสีฝ่ายขวาชื่อนางคุ้ง ธิดากรมช้าง[5]
สมิงทอปรับตัวให้เข้ากับชีวิตของพระมหากษัตริย์ได้ยาก และเนื่องด้วยพระองค์มีเชื้อสายพม่าจึงมักไม่เต็มใจที่จะรับผิดชอบการปกครองหรือเป็นผู้บัญชาการกองทัพ และมักไม่อยู่ในเมืองหลวง[6] ส่วนใหญ่การปกครองจะให้อยู่ในการดูแลของพญาทะละ ทำให้พญาทะละคิดกบฏ
ต่อมาสมิงทอถูกพญาทะละยึดราชสมบัติ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1747 พระองค์จึงเดินทางไปยังแคว้นเชียงใหม่ และหนีเข้ามาในเขตอาณาจักรอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงให้รับตัวมาอยู่กรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อสมิงทอเริ่มมีพวกมากขึ้นก็ทรงไม่ไว้พระทัยจึงให้จำคุกไว้ จนกระทั่งพญาทะละส่งพระราชสาส์นมาขอให้ส่งตัวสมิงทอกับพรรคพวกกลับกรุงหงสาวดี แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเห็นว่าสมิงทอหนีตายมาพึ่งพระบารมี ไม่ควรส่งกลับไปตาย แต่เพื่อรักษาพระราชไมตรี[7]จึงให้เนรเทศลงสำเภาไปปล่อยที่เมืองกวางตุ้ง[8] ภายหลังพระองค์ได้เดินทางกลับเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง[9]: 284–290 พระเจ้าเชียงใหม่องค์จันทร์โปรดให้สมิงทอประทับกับพระราชบุตรพระราชธิดาดังเดิม แต่ไม่อนุญาตให้ยกทัพไปตีเมืองมอญอีก ภายหลังสมิงทอได้ลาพระเจ้าเชียงใหม่ไปเข้ารับราชการเป็นขุนนางมอญในกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระราชธิดาได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้าในราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีบุตรีทรงพระนามว่าหม่อมทองคำหรือที่รู้จักกันในชื่อท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) พระมารดาของเจ้าจอมมารดาทิม[10]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 Hmannan Vol. 3 2003: 373
- ↑ ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 61-62
- ↑ ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 63
- ↑ คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 485
- ↑ คำให้การขุนหลวง วัดประดู่ทรงธรรม, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 293-295
- ↑ Htin Aung 1967: 153
- ↑ ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 84-85
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 365
- ↑ Rajanubhab, D., 2001, Our Wars With the Burmese, Bangkok: White Lotus Co. Ltd., ISBN 9747534584
- ↑ ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 86-87
- บรรณานุกรม
- ประชุมพงศาวดารเล่ม 2 (ประชุมพงศาวดารภาค 1 ตอนปลาย และภาค 2). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 336 หน้า. หน้า 61-87.
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. หน้า 236-240. ISBN 978-974-7088-10-6
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. หน้า 361-365. ISBN 978-616-7146-08-9
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
- Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
- Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
- Lieberman, Victor B. (1984). Burmese Administrative Cycles: Anarchy and Conquest, c. 1580–1760. Princeton University Press. ISBN 0-691-05407-X.
- Royal Historians of Burma (c. 1680). U Hla Tin (Hla Thamein) (บ.ก.). Zatadawbon Yazawin (1960 ed.). Historical Research Directorate of the Union of Burma.
- Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.