[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

สงครามหมู (ค.ศ. 1859)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามหมู

ข้อเสนอแบ่งเส้นเขตแดน:

                     เส้นแบ่งเขตโดยใช้ช่องแคบฮาโร (Haro Strait) เป็นเกณฑ์ เสนอโดยฝ่ายสหรัฐ                      เส้นแบ่งเขตโดยใช้ช่องแคบโรซาริโอ (Rosario Strait) เป็นเกณฑ์ เสนอโดยฝ่ายบริเตน                      เส้นแบ่งเขตโดยใช้ช่องแคบซานฮวน (San Juan Channel) เป็นเกณฑ์ ซึ่งประณีประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝั่ง

เส้นดังกล่าววาดตามแผนที่ในเวลานั้น เขตแดนในปัจจุบันแบ่งออกเป็นเส้นตรงและมีความคล้ายคลึงกับข้อเสนอในเส้นสีนํ้าเงิน ในขณะที่เขตแดนฝั่งตะวันออกของเทศมณฑลซานฮวน มีความคล้ายคลึงกับข้อเสนอในเส้นสีแดง
วันที่15 มิถุนายน – ตุลาคม ค.ศ. 1859 (มีกองทหารไปประจำการที่หมู่เกาะซานฮวน จนถึง ค.ศ. 1874)
สถานที่
ผล โดยส่วนมากแล้วเป็นสงครามไม่มีความสูญเสีย – เกาะซานฮวนถูกมอบให้สหรัฐ ตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยมีเยอรมนีเป็นผู้ตัดสิน
คู่สงคราม

 สหรัฐ

 สหราชอาณาจักร

ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ไซลาส เคซี
วิลเลียม เอส. ฮาร์นี
จอร์จ พิคเก็ท
เจมส์ ดักลาส
อาร์.แอล.ไบเนส
เจฟฟรีย์ ฮอร์นบี
กำลัง
กำลังพล 461 นาย
ปืนใหญ่ 14 กระบอก
กำลังพล 2,140 นาย
เรือรบ 5 ลำ
ปืนใหญ่ 70 กระบอก
ความสูญเสีย
หมู 1 ตัว
แผนที่ปี 1798 ของจอร์จ แวนคูเวอร์ แสดงถึงความคลุมเครือในบริเวณทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะแวนคูเวอร์ หมู่เกาะกัลฟ์ และช่องแคบฮาโร

สงครามหมู (อังกฤษ: Pig War) เป็นความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักร ในบริเวณหมู่เกาะซานฮวน ระหว่างเกาะแวนคูเวอร์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศแคนาดา) และรัฐวอชิงตัน ใน ค.ศ. 1859 สาเหตุที่มีการเรียกชื่อเช่นนี้ เป็นเพราะความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากการที่หมูตัวหนึ่งถูกยิงตาย ความขัดแย้งครั้งนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อุบัติการณ์หมู สงครามหมูและมันฝรั่ง ข้อขัดแย้งพรมแดนซานฮวน และ ข้อพิพาทพรมแดนนอร์ทเวสต์เทิร์น อนึ่ง แม้ความขัดแย้งครั้งนี้จะถูกเรียกว่าสงคราม แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีการสูญเสียในด้านใด ๆ ยกเว้นหมูตัวข้างต้นเท่านั้น

มูลเหตุ

[แก้]

ความคลุมเครือด้านดินแดน

[แก้]

การลงนามสนธิสัญญาออริกอนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1846 ได้แก้ปัญหาข้อพิพาทพรมแดนออริกอนด้วยการแบ่งพรมแดนของเทศมณฑลออริกอนและเขตโคลัมเบีย ระหว่างสหรัฐกับสหราชอาณาจักรตามแนวเส้นขนานที่สี่สิบเก้าละติจูดเหนือ ถึงกึ่งกลางของช่องแคบ (Channel) ซึ่งแยกแผ่นดินบนพื้นทวีปออกจากเกาะแวนคูเวอร์ และตัดผ่านกึ่งกลางของช่องแคบข้างต้นและช่องแคบฆวน เด ฟูกาไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก[1]

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มีช่องแคบ (Strait) อยู่สองช่องแคบที่สามารถนับได้ว่าเป็นจุดกึ่งกลางของช่องแคบนั้น คือ ช่องแคบฮาโร ตามแนวฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะซานฮวน และช่องแคบโรซาริโอ ตามแนวฝั่งตะวันออก[2]

ในขณะนั้น (ค.ศ. 1846) ภูมิศาสตร์ของภูมิภาคดังกล่าวยังคงมีความคลุมเครืออยู่บ้าง แผนที่ที่แพร่หลายที่สุดในเวลานั้น คือ แผนที่ของจอร์จ แวนคูเวอร์ ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1798 และของชาลส์ วิลค์ส ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1845 แผนทั้งสองฉบับต่างก็มีความคลุมเครือเกี่ยวบริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะแวนคูเวอร์และหมู่เกาะกัลฟ์ ดังนั้น อาณาบริเวณของช่องแคบฮาโรก็ถือว่าคลุมเครือเช่นกัน[3]

ใน ค.ศ. 1856 สหรัฐและบริเตนได้ตั้งคณะกรรมาธิการพรมแดนขึ้นเพื่อสะสางปัญหาหลายประการเกี่ยวกับพรมแดนระหว่างประเทศ รวมถึงอาณาเขตทางน้ำจากช่องแคบจอร์เจียถึงช่องแคบฆวน เด ฟูกา ฝ่ายบริเตนแต่งตั้งเจมส์ ชาลส์ พรีวอสต์ เป็นเป็นคณะกรรมาธิการคนที่หนึ่ง จอร์จ เฮนรี ริชาร์ด เป็นคณะกรรมาธิการคนที่สอง และวิลเลียม เอ. จี. ยัง (William A. G. Young) เป็นเลขานุการ ส่วนฝ่ายสหรัฐแต่งตั้ง อาชิบาลด์ แคมป์เบลล์ (Archibald Campbell) เป็นคณะกรรมาธิการคนที่หนึ่ง[4] จอหน์ พาร์ค เป็นคณะกรรมาธิการคนที่สอง และวิลเลียม เจ. วอร์เรน (William J. Warren) เป็นเลขานุการ คณะกรรมาธิการของทั้งสองฝ่ายพบกันเป็นครั้งแรกบนเรือหลวงแซทเทิลไลท์ ของสหราชอาณาจักรในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1857[4] ขณะที่เรือกำลังจอดเทียบท่าในท่าเรือเอสไคว์มอลต์ฮาเบอร์ ทั้งสองฝ่ายพบปะกันอีกหลายครั้งในปีเดียวกันที่ท่าเรือเอสไคว์มอลต์ฮาเบอร์และท่าเรือนานไอโม โดยในช่วงว่างเว้นจากการประชุม ทั้งสองฝ่ายจะใช้จดหมายเป็นสื่อกลางในการหารือ ปัญหาอาณาเขตทางน้ำถูกนำมาอภิปรายตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม พรีวอสต์ยืนกรานนับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์ของช่องแคบโรซาริโอตรงตามเงื่อนไขของสนธิสัญญา และเจตนารมณ์ของผู้ร่างสนธิสัญญา แคมป์เบลล์เองก็มีแนวคิดเช่นเดียวกันนี้กับช่องแคบฮาโร[ต้องการอ้างอิง]

ตามความเห็นของพรีวอสต์ "ช่องแคบ" ที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาจะต้องมีคุณสมบัติสามประการดังต่อไปนี้ คือ:

  1. จะต้องเป็นตัวแบ่งเกาะแวนคูเวอร์ออกจากภาคพื้นทวีป
  2. ต้องมีแนวพรมแดนไปในทางทิศใต้ (Southerly) และ
  3. ต้องสะดวกต่อการคมนาคมทางเรือ

พรีวอสต์เขียนไว้ว่า มีแต่ช่องแคบโรซาริโอเท่านั้นที่เข้าข่ายเงื่อนไขสามข้อนี้ ในขณะแคมป์เบลล์แย้งว่า นิยาม "ทิศใต้" ในสนธิสัญญานี้ มีความหมายตามความเข้าใจทั่วไป ที่ว่าช่องแคบโรซาริโอมิได้เป็นตัวแบ่งแผ่นดินภาคพื้นทวีปออกจากเกาะแวนคูเวอร์ หากแต่เป็นหมู่เกาะซานฮวนออกจากเกาะลัมมิ เกาะไซเพรส เกาะฟิเดลโก และเกาะอื่น ๆ แคมป์เบลล์ยังโต้อีกว่าการคมนาคมทางเรือไม่ได้มีเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ และถึงแม้จะนำปัจจัยนั้นมาพิจารณา ช่องแคบฮาโรก็ยังมีคุณสมบัติที่ดีกว่า เพราะมีความกว้างและมีเส้นทางเป็นเส้นตรง (Direct passage) มากกว่าช่องแคบโรซาริโอ ท้ายที่สุดแล้ว เขาท้าทายให้พรีวอสต์นำหลักฐานที่เสนอว่าคณะผู้ร่างสนธิสัญญาต้องการให้ใช้ช่องแคบโรซาริโอเป็นตัวแบ่งพรมแดน พรีวอสต์ตอบโต้ด้วยการอ้างถึงบรรดาแผนที่ของฝ่ายสหรัฐที่แสดงว่าเส้นพรมแดนพาดผ่านช่องแคบโรซาริโอ รวมไปถึงแผนที่ของจอหน์ ซี. เฟรมอนต์ ที่ได้รับการแจกจ่ายและจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในรัฐบาลสหรัฐ และแผนที่อีกฉบับที่จัดทำโดยจอหน์ บี. เพรสตัน (John B. Preston) เจ้าพนักงานรังวัด (Surveyor General) ประจำรัฐออริกอนใน ค.ศ. 1852 สำหรับเหตุผลข้ออื่น ๆ พรีวอสต์ได้ทำการยกเหตุผลเกี่ยวกับความสะดวกต่อการคมนาคมทางเรือของช่องแคบโรซาริโอ ความไม่สะดวกสำหรับการคมนาคมของช่องแคบระหว่างเกาะลัมมิ เกาะไซเพรส และเกาะฟิเดลโก และการที่แนวพรมแดนที่พาดผ่านช่องแคบโรซาริโอจะเป็นในไปในทางทิศใต้ ในขณะที่แนวพรมแดนที่พาดผ่านช่องแคบฮาโรจะเป็นในไปในทางทิศตะวันตกขึ้นมาประกอบอีกครั้งด้วย ทั้งสองฝ่ายประชุมหารือปัญหาต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1857 เมื่อเป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับข้อเสนอของอีกฝ่ายหนึ่ง ในวันที่ 3 ธันวาคม พรีวอสต์จึงยื่นข้อเสนอสุดท้ายในการประชุมครั้งที่หก โดยเขาเสนอเสนอเส้นพรมแดนแบบประนีประนอม ซึ่งทอดผ่านช่องแคบซานฮวน อันจะทำให้สหรัฐได้เกาะหลัก ๆ ทั้งหมด เว้นแต่เกาะซานฮวน ข้อเสนอนี้ถูกปัดตกไป และคณะกรรมาธิการก็มีอันต้องหยุดชะงักลง โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เห็นพ้องที่จะกลับไปรายงานผลให้รัฐบาลของตนรับทราบ ดังนั้นความคลุมเครือในด้านพรมแดนทางน้ำจึงยังคงอยู่เช่นเดิม[5]

ด้วยความคลุมเครือนี้เอง ทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักรจึงต่างก็อ้างสิทธิ์อำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะซานฮวน[6] โดยในระหว่างช่วงเวลาที่มีการถกเถียงเรื่องอำนาจอธิปไตยอยู่นี้ บริษัทฮัดสันเบย์ของบริเตน ได้เข้ามาดำเนินกิจการบนตัวเกาะซานฮวน และใช้พื้นที่ของเกาะเป็นทุ่งเลี้ยงแกะ ขณะเดียวกัน เมื่อถึงกลางปี 1859 ก็มีผู้ตั้งรกรากชาวอเมริกันจำนวนยี่สิบห้าถึงยี่สิบเก้ารายเดินทางมาถึงเกาะซานฮวน[2][7]

ความสำคัญของเกาะซานฮวนไม่ได้อยู่ที่ขนาด แต่เป็นในด้านการทหาร ในขณะที่ฝ่ายบริเตนมีป้อมฟอร์ตวิกตอเรียตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะแวนคูเวอร์ ซึ่งสามารถมองเห็นช่องแคบฆวน เด ฟูกา ปากทางเข้าของช่องแคบฮาโร อันจะนำไปสู่ช่องแคบจอร์เจีย ชาติที่สามารถครอบครองหมู่เกาะซานฮวนจะสามารถครอบงำเหล่าช่องแคบต่าง ๆ ที่เป็นตัวเชื่อมช่องแคบฆวน เด ฟูกากับช่องแคบจอร์เจียได้[8]

บริบททางการเมือง

[แก้]

จอร์จ บี. แม็คเคลเลน นายทหารผู้เป็นเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมชั้นของจอร์จ พิคเก็ท เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ อ้างว่าพลจัตวา (ต่อมาได้เลี่อนยศเป็นพลตรีพิเศษ) วิลเลียม เอส. ฮาร์นี และพิคเก็ทสมคบคิดอย่างลับ ๆ กับคนกลุ่มหนึ่งเพื่อก่อสงครามกับบริเตน โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างศัตรูร่วม เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐทางเหนือและรัฐทางใต้ แต่พันตรี (ต่อมาได้เลี่อนยศเป็นพันเอก) แกรนวิลล์ โอ. ฮาลเลอร์ กล่าวหักล้างทฤษฎีของแม็คเคลเลน โดยฮาลเลอร์เห็นว่านายทหารทั้งสองต้องการก่อสงครามจริง แต่เป็นไปเพื่อดึงความสนใจของรัฐทางเหนือ เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐทางใต้ประกาศเอกราชได้[9]

ทฤษฎีของเขาเริ่มดูมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อมีผู้สังเกตว่าพันโท (ต่อมาได้เลี่อนยศเป็นพลตรี) ไซลาส เคซี รองผู้บังคับบัญชาของกรมทหารราบที่ 9 ถูกลดบทบาทลงให้ไปทำหน้าที่สนับสนุน ร้อยเอกจอร์จ พิคเก็ท ผู้ได้รับอำนาจควบคุมอย่างอิสระเหนือพื้นที่จำนวนมากจากฮาร์นี นอกจากนี้ ฮาร์นียังมองข้ามเขาไปขณะกำลังพิจารณาว่าควรมอบอำนาจเหนือพื้นที่อันกว้างขว้างดังกล่าวนั้นแก่ผู้ใดด้วย[9]

ในอีกมุมมองหนึ่ง อาจจะกล่าวได้ว่าพันโทเคซีไม่ได้ถูกลดบทบาทลงแต่อย่างใด เพราะเขาได้มอบหมายให้ไปบังคับการเรือกลไฟยูเอสเอส แมสซาชูเซตส์ เคซียังได้รับคำสั่งจากพันตรีฮาลเลอร์ให้ไปป้องกันและตรวจตราน่านน้ำบริเวณพูเก็ตซาวนด์ นอกจากนี้ เขาได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการนอกเหนือคำสั่งได้ใช้โดยดุลยพินิจของตนเอง เพราะเขาเป็นนายทหารผู้มีประสบการณ์ (หนังสือเกี่ยวกับยุทธวิธีทหารราบที่เคซีเป็นผู้เขียน ได้ใช้เป็นหนังสือแบบเรียนที่โรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ระหว่างช่วงสงครามกลางเมือง)[9]

อุบัติการณ์หมู

[แก้]
ภาพถ่ายของฟาร์มแกะเบลล์วู (Belle Vue Sheep Farm) บนเกาะซานฮวน เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1859 ระหว่างเหตุการณ์สงครามหมู
ภาพวาดสีน้ำของฟาร์มแกะเบลล์วูระหว่างช่วงที่เกิดสงครามหมู
ทิวทัศน์ในปัจจุบันของบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของฟาร์มแกะเบลล์วู โดยมีทิวเขาโอลิมปิกอยู่ด้านหลัง

ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1859 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 13 ปีที่สนธิสัญญาออริกอนมีผลบังคับใช้พอดี ความคลุมเครือดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งโดยตรงระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักร โดยมีสาเหตุมาจากการที่นายไลแมน คัตลาร์ (Lyman Cutlar) เกษตรกรชาวอเมริกัน ผู้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่เกาะซานฮวน โดยอ้างสิทธิ์ในการอยู่อาศัยตามรัฐบัญญัติอ้างสิทธิ์ที่ดินได้เปล่า (Donation Land Claim Act) พบหมูตัวหนึ่งกำลังขุดคุ้ยและกินส่วนหัวของพืชผักในสวนของตนเอง[2][6][10] นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น นายไลแมนจึงบันดาลโทสะยิงหมูตัวนั้นจนถึงแก่ความตาย ปรากฎว่าหมูตัวนั้นเป็นของชาลส์ กริฟฟิน (Charles Griffin) ชาวไอริช ผู้ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทฮัดสันเบย์ ให้มาดูแลฟาร์มแกะบนเกาะ[2][6][10] นายชาลส์ยังเป็นเจ้าของหมูอีกหลายตัว ซึ่งเขาล้วนแต่ปล่อยให้พวกมันเดินเพ่นพ่านได้อย่างอิสระ ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องวิวาทกันจนกระทั้งเกิดเหตุยิงหมูนี้ขึ้น นายไลแมนเสนอจะจ่ายเงินชดเชยให้นายชาลส์เป็นจำนวน 10 ดอลลาร์สหรัฐ แต่นายชาลส์ไม่พอใจในข้อเสนอนี้ และเรียกเงินเป็นจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากได้รับคำตอบดังกล่าว นายไลแมนจึงมองว่าตนไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่นายชาลส์แต่อย่างใด เพราะหมูของนายชาลส์รุกล้ำที่ดินของเขา เรื่องเล่าสำนวนหนึ่งที่ไม่มีแหล่งที่มาบอกว่านายไลแมนพูดกับนายชาลส์ว่า "มัน [หมายถึงหมูตัวที่ถูกยิงตาย] เข้ามากินมันฝรั่งของผม" โดยที่นายชาลส์ตอบกลับไปว่า "มันเป็นหน้าที่ของแกที่จะต้องเอามันฝรั่งออกไปไกล ๆ จากหมูของฉัน"[10] เมื่อทางการบริติชขู่จะจับกุมตัวนายไลแมน ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอเมริกันบนเกาะจึงเรียกร้องให้มีการการส่งกองทัพเข้ามาคุ้มกันพวกตน[ต้องการอ้างอิง]

การเข้ามามีส่วนร่วมของกองทัพ

[แก้]
ภาพถ่ายทางอากาศของแนวป้องกันโรเบิร์ตส์ (Roberts redoubt) บนเกาะซานฮวน

ในช่วงแรก พลจัตวา วิลเลียม เอส. ฮาร์นี ผู้บังคับบัญชาของมณฑลทหารออริกอน ได้มอบหมายให้ร้อยเอก จอร์จ พิคเก็ท และทหารอเมริกันอีกจำนวน 66 นาย จากกรมทหารราบที่ 9 ภายใต้การนำของเขานำกำลังไปตั้งไว้ในเกาะซานฮวน พร้อมคำสั่งให้กระทำทุกวิถีทางเพื่อมิให้ฝ่ายบริเตนสามารถขึ้นฝั่งได้ โดยมีเรือรบยูเอสเอส แมสซาชูเซตส์ ทำหน้าที่เป็นผู้พากองทหารของพิคเก็ทไปยังเกาะซานฮวน[2][6] ฝ่ายบริเตนกังวลว่าประชากรอเมริกันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานโดยไม่ได้รับอนุญาตนี้จะยึดครองเกาะซานฮวนเอาไว้เองหากไม่มีผู้ใดขัดขวาง ทางบริเตนจึงส่ง เรือรบจำนวนสามลำ ภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาเอก เจฟฟรีย์ ฮอร์นบี ไปยังเกาะซานฮวนเพื่อเป็นการถ่วงดุลกับฝ่ายอเมริกัน[2][6][10] ฮอร์นบีเรียกร้องให้พิคเก็ทถอนกำลังออกจากเกาะ แต่พิคเก็ทปฎิเสธ ฮอร์นบีจึงขู่ว่าจะนำทหารฝ่ายตนยกพลขึ้นบก มีการอ้างว่าพิคเก็ทได้บอกกับทหารในบังคับบัญชาของตนว่า "อย่ากลัวปืนใหญ่ของพวกนั้น" ("Don't be afraid of their big guns") และพูดถึงคำขู่ของฝ่ายบริเตนอย่างเย้ยหยันว่า "เราจะทำให้ที่นี้กลายเป็นบังเกอร์ฮิลล์" ทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ[11] ในช่วงแรก พิคเก็ทกับกองร้อยทหารราบและทหารปืนใหญ่ตั่งมั่นอยู่ที่ฟาร์มแกะเบลล์วูของบริษัทฮัดสันเบย์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณแคทเทิลพอยท์ไลท์ในปัจจุบัน และอยู่ในระยะยิงของเรือหลวงแซทเทิลไลท์ของฝ่ายบริเตนพอดี เมื่อมีผู้ชี้ความผิดพลาดทางยุทธวิธีนี้ให้พิคเก็ททราบ เขาจึงสั่งให้กองร้อยปืนใหญ่เคลื่อนพลไปทางที่สูง (High ground) ที่อยู่ทางทิศเหนือ ซึ่งสามารถมองเห็นอ่าวกริฟฟินเบย์และช่องแคบฆวน เด ฟูกาได้ และไม่ไกลจากที่ตั้งเดิมเท่าใดนัก จากนั้นจึงมีการเริ่มสร้างแนวป้องกันเพื่อใช้เป็นกำบังให้กับปืนใหญ่[ต้องการอ้างอิง]

พิคเก็ทตั้งค่ายทหารอเมริกันอยู่ใกล้ทางใต้สุดของเกาะซานฮวน ปัจจุบันค่ายทหารนี้ถือเป็นหนึ่งในสองสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์บนตัวเกาะ โดยอีกสถานที่หนึ่งคือค่ายของเหล่าราชนาวิกโยธินแห่งราชนาวีบริติช ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะเดียวกัน ร้อยตรีเฮนรี มาร์ติน โรเบิร์ต ผู้พึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยท์ ทำหน้าที่กำกับดูแลการก่อสร้างแนวป้องกันของค่ายทหารฝ่ายอเมริกัน ต่อมาเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองอเมริกาขึ้น เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในแม่ทัพของกองทัพโปโตแมค นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ประพันธ์หนังสือ โรเบิร์ตส์รูลส์ออฟออเดอร์ ด้วย[12][13] แนวป้องกันที่โรเบิร์ตเป็นผู้สร้างถือว่าเป็นแนวป้องกันที่สามารถรักษาสภาพเดิมไว้ได้อย่างดีที่สุดในสหรัฐ (ห่างออกไปทางตะวันออกของแนวป้องกันดังกล่าว คือที่ตั้งของเจคิลส์ลากูน [Jackle's Lagoon] ซึ่งตั้งชื่อตามจอร์จ เจคิล [George Jackle] ทหารนายหนึ่งที่มาประจำการอยู่บนเกาะนี้)[14][15]

สถานการณ์ยังคงบานปลายต่อไป เมื่อถึงวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1859 ก็ปรากฎว่ามีทหารอเมริกันจำนวน 461 นาย พร้อมกับ ปืนใหญ่ 14 กระบอก ภายใต้การบังคับบัญชาของพันโท ไซลาส เคซี ตั้งมั่นประจันหน้ากับเรือรบห้าลำของฝ่ายบริเตน โดยเรือแต่ละลำมีปืนใหญ่รวมกัน 70 กระบอก และบรรทุกทหารอีกกว่า 2,140 นาย[2][6][10]

เจมส์ ดักลาส ผู้ว่าการอาณานิคมเกาะแวนคูเวอร์ ได้สั่งการให้พลเรือตรี โรเบิร์ต แอล. ไบแนส นำหน่วยนาวิกโยทิน ขึ้นฝั่งที่เกาะซานฮวนและเข้าปะทะกับฝ่ายอเมริกันที่นำโดยพลจัตวาฮาร์นี (กองกำลังของฮาร์นีได้เข้ายึดครองเกาะมาตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1859 แล้ว) ทว่าไบแนสกลับปฎิเสธที่จะทำตามคำสั่ง เพราะเขามองว่า "การที่ชาติยิ่งใหญ่สองชาติจะทำสงครามกันเพราะเหตุทะเลาะวิวาทจากหมูตัวเดียว" เป็นเรื่องโง่เง่าสิ้นดี[6][10] ผู้บัญชาการของทั้งสองฝ่ายได้รับคำสั่งที่โดยรวมแล้วมีใจความเหมือนกัน คือ "จงป้องกันตนเอง แต่อย่าเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อนเด็ดขาด" ทั้งทหารของฝ่ายบริติชและอเมริกันพูดจาเยาะเย้ยกันไปมา เพื่อหวังยั่วยุให้อีกฝ่ายยิงก่อน แต่ทหารของทั้งสองฝ่ายต่างก็สามารถรักษาระเบียบวินัยไว้ได้ และไม่มีฝ่ายใดลั่นกระสุนออกมาเลย[ต้องการอ้างอิง]

บทสรุป

[แก้]
ป้ายรำลึกสงครามหมู ที่หน้าค่ายทหารบริติช

เมื่อรัฐบาลของทั้งสองชาติทราบข่าวของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็มีท่าที่ตื่นตระหนกเป็นอันมาก และเริ่มดำเนินการเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ข้อพิพาทระหว่างประเทศนี้รุนแรงขึ้น[16]

ประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน ส่งพลเอกวินฟิลด์ สก็อตไปเจรจากับผู้ว่าการดักลาส ในเดือนกันยายนเพื่อสะสางวิกฤตการณ์ที่กำลังก่อตัวขึ้นนี้[6][10] การเจรจานี้เป็นผลดีต่อสหรัฐ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐกำลังให้ความสนใจอยู่กับปัญหาท้องถิ่นนิยมที่กำลังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งต่อมาจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง[10] พลเอกวินฟิลด์เคยทำหน้าที่เป็นผู้สะสางปัญหาด้านพรมแดนของชาติทั้งสองในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1830 เขาเดินทางถึงซานฮวนในเดือนตุลาคม และเริ่มกระบวนการเจรจากับผู้ว่าการดักลาส[16]

ตามข้อตกลงของการเจรจา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะคงกำลังพลไม่เกิน 100 คนไว้บนเกาะในฐานะกองกำลังยึดครองร่วม จนกว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้[6] ค่ายของฝ่ายบริติชถูกตั้งขึ้นตามแนวชายฝั่งทางเหนือของเกาะซานฮวน เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางและส่งเสบียง ส่วนค่ายของฝ่ายอเมริกันถูกตั้งขึ้นที่ทิศใต้บนทุ่งหญ้าพื้นสูงที่อยู่เหนือลม ซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะกับการตั้งปืนใหญ่ไว้ยิงเรือที่เดินทางเข้ามา[10] ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานสหรัฐยังคงเชิญธงยูเนียนแจ็กขึ้นและลงจากยอดเสาเหนือบริเวณค่ายของฝ่ายบริติชเป็นประจำ ทำให้เกาะซานฮวนเป็นหนึ่งในไม่กี่สถานที่ที่แม้จะไม่มีสถานะทางการทูต แต่ข้ารัฐการของสหรัฐต้องนำธงชาติของประเทศอื่นเชิญขึ้นในสถานที่นั้น แม้การกระทำนี้จะมีจุดประสงค์เพื่อการรำลึกอย่างเดียวก็ตาม[ต้องการอ้างอิง]

ในช่วงของการยึดครองทางทหารร่วมกันระหว่างทั้งสองชาติ กองกำลังเล็ก ๆ ของฝ่ายบริติชและอเมริกันบนเกาะซานฮวนต่างอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มักไปเยือนค่ายค่ายของอีกฝั่งเสมอ ๆ เมื่อถึงวาระฉลองวันหยุดประจำชาติของแต่ละฝ่าย และยังมีการแข่งขันกีฬาระหว่างกันอีกด้วย เจ้าหน้าที่กรมอุทยานสหรัฐกล่าวว่าภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดต่อสันติภาพบนเกาะคือ "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก"[ต้องการอ้างอิง]

สภาวการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปเป็นเวลากว่า 12 ปี ท้ายที่สุดแล้วความขัดแย้งนี้ก็ได้รับการสะสางลงด้วยดีและไม่มีการปะทะกันแต่อย่างใด เว้นเสียแต่การเผชิญหน้า (Confrontation) และการแสดงแสนยานุภาพทางทหารเพียงเท่านั้น โดยในช่วงก่อนที่ความขัดแย้งนี้จะได้รับการสะสาง รัฐบาลอาณานิคมท้องถิ่นพยายามโน้มน้าวรัฐบาลประเทศแม่ที่ลอนดอนให้ทำการยึดภูมิภาคพูเก็ตซาวนด์ทั้งหมดกลับคืนมา โดยอาศัยความชุลมุนของสงครามกลางเมืองอเมริกาเป็นตัวช่วย[17] ต่อมาใน ค.ศ. 1866 อาณานิคมเกาะแวนคูเวอร์ถูกผนวกเข้ากับอาณานิคมบริติชโคลัมเบีย กลายเป็นอาณานิคมบริติชโคลัมเบียที่สอง ใน ค.ศ. 1871 อาณานิคมนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแคนาดา (Dominion of Canada) ในปีเดียวกันนั้นเอง สหราชอาณาจักรและสหรัฐได้ลงนามในสนธิสัญญาวอชิงตัน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาในหลายด้านระหว่างชาติทั้งสอง ร่วมไปถึงปัญหาทางด้านพรมแดนด้วย หนึ่งในข้อสรุปของสนธิสัญญานี้คือสหรัฐและสหราชอาณาจักรตกลงที่จะสะสางปัญหาข้อพิพาทเกาะซานฮวนผ่านทางกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยมีจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งเยอรมนีเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มทรงมอบหมายคดีดังกล่าวให้สมาชิกคณะอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคนวินิฉัย คดีนี้ได้รับการพิจารณาที่นครเจนีวาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีเต็ม[16] ในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1872 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้สหรัฐเป็นฝ่ายชนะ[2][6][10] โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้มีมติยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนทางน้ำโดยใช้ช่องแคบฮาโรที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะเป็นเกณฑ์ ซึ่งสหรัฐเป็นผู้เสนอ ส่วนข้อเสนอของฝ่ายบริเตนที่ให้ใช้ช่องแคบโรซาริโอที่อยู่ทางตะวันออกเป็นเกณฑ์เป็นอันตกไป

สหราชอาณาจักรถอนกำลังราชนาวิกโยธินออกจากเกาะในวันที่ 25 พฤศจิกายนของปีนั้น[2] ส่วนฝ่ายอเมริกันถอนกำลังออกไปไม่เกินเดือนกรฎาคม ค.ศ. 1874[2][6]

ปัจจุบันยังคงมีพิธีรำลึกสงครามหมูในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ เกาะซานฮวนเป็นประจำ[10]

บุคคลสำคัญในเหตุการณ์สงครามหมู

[แก้]

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สนธิสัญญาออริกอน ที่วิกิซอร์ซ เข้าถึงแหล่งข้อมูลเมื่อ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2006
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 Matthews, Todd. "The Pig War of San Juan Island". The Tablet. www.wahmee.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-09. สืบค้นเมื่อ 2012-09-07.
  3. Hayes, Derek (1999). Historical Atlas of the Pacific Northwest: Maps of exploration and Discovery. Sasquatch Books. pp. 171–174. ISBN 1-57061-215-3.
  4. 4.0 4.1 Phil Dougherty (28 February 2010). "The International Boundary Commission first meets on June 27, 1857". HistoryLink.org. Online Encyclopedia of Washington State History. p. 9328. สืบค้นเมื่อ 19 July 2013.
  5. Howay, Frederic William; Scholefield, Ethelbert Olaf Stuart (1914). McBride, Richard (บ.ก.). British Columbia: From the Earliest Times to the Present (ภาษาอังกฤษ). Vol. II (1st ed.). Vancouver, Canada: S.J. Clarke Publishing Company. pp. 303–306. doi:10.14288/1.0388847. ISBN 9781340270537. OCLC 647473053. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 March 2020. สืบค้นเมื่อ 14 June 2021 – โดยทาง หอสมุดยูบีซี (มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย).
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 "The Pig War". National Park Service, U.S. Department of the Interior. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-10. สืบค้นเมื่อ 2012-09-07.
  7. Howay, Frederic William; Scholefield, Ethelbert Olaf Stuart (1914). McBride, Richard (บ.ก.). British Columbia: From the Earliest Times to the Present (ภาษาอังกฤษ). Vol. II (1st ed.). Vancouver, Canada: S.J. Clarke Publishing Company. doi:10.14288/1.0388847. ISBN 9781340270537. OCLC 647473053. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 March 2020. สืบค้นเมื่อ 14 June 2021 – โดยทาง หอสมุดยูบีซี (มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย).
  8. Vouri, Michael (2013). Adams, Jim; Brockman, Lori (บ.ก.). The Pig War: Standoff at Griffin Bay (2nd ed.). Seattle, Washington, United States of America: Discover Your Northwest. pp. 174–176. ISBN 9780914019626.
  9. 9.0 9.1 9.2 Vouri, Michael (2016). The Pig War. 164 S, Jackson, Seattle WA98104: Discover Your Northwest distributed by University of Washington. pp. 69–72. ISBN 978-0-914019-62-6.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  10. 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 Woodbury, Chuck (2000). "How One Pig Could Have Changed American History". Out West #15. Out West Newspaper. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-06. สืบค้นเมื่อ 2006-10-16.
  11. Tagg, Larry (1998). "The Generals of Gettysburg". Savas Publishing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2014. สืบค้นเมื่อ June 14, 2010.
  12. "Robert's Redoubt".
  13. "Belle Vue sheep farm".
  14. "Jackle's Lagoon".
  15. Vouri, Mike (2008). The Pig War. Charleston, S.C., Chicago,IL: Arcadia Publishing. ISBN 978-0-7385-5840-0.
  16. 16.0 16.1 16.2 "The Pig War". San Juan Island National Historical Park. กรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2009-06-19.
  17. Jewell, James Robbins (7 March 2015). "Chapter 1: Thwarting Southern Schemes and British Bluster in the Pacific Northwest" (PDF). ใน Arenson, Adam; Graybill, Andrew W. (บ.ก.). Civil War Wests: Testing the Limits of the United States (PDF) (ภาษาอังกฤษ) (1st ed.). เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (ยูซีเพรส). pp. 19–20. doi:10.1525/9780520959576-002. ISBN 9780520959576. JSTOR 10.1525/j.ctt13x1gqn. OCLC 881875924. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 13 April 2021.
  18. Slaughter, Jim; Ragsdale, Gaut; Ericson, Jon L. (2012). Notes and Comments on Robert's Rules (Fourth ed.). Carbondale and Edwardsville: Southern Illinois University Press. p. 160. ISBN 978-0-8093-3215-1.
  19. 19.0 19.1 Vouri, Michael (1999). The Pig War: Standoff at Griffin Bay. Griffin Bay. pp. 273. ISBN 978-0-9634562-5-0.

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]