ยุทธการที่กิสาน
ยุทธการที่กิสาน | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ 4 | |||||||
แผนที่แสดงการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
วุยก๊ก |
จ๊กก๊ก เซียนเปย์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
สุมาอี้ เตียวคับ † ปีเอียว ไต้เหลง กุยห้วย เจี่ย ซื่อ งุยเป๋ง |
จูกัดเหลียง อองเป๋ง อุยเอี๋ยน งอปั้น โกเสียง ห่อปี | ||||||
กำลัง | |||||||
ไม่ทราบ | ไม่ทราบ | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ไม่ทราบ | ไม่ทราบ |
ยุทธการที่กิสาน (จีน: 祁山之戰) เป็นยุทธการที่เกิดขึ้นบริเวณเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ระหว่างรัฐจ๊กก๊กและวุยก๊กในปี ค.ศ. 231 ในยุคสามก๊กของจีน ยุทธการครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งที่มีการรบดุเดือดที่สุดในการบุกวุยก๊กของจ๊กก๊กห้าครั้ง เป็นผลทำให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียทหารไปหลายพันนาย แม้ว่าจูกัดเหลียงจะสามารถได้ชัยชนะในช่วงต้นของยุทธการ แต่ในที่สุดยุทธการก็สิ้นลุดลงด้วยชัยชนะทางยุทธศาสตร์ของวุยก๊กเนื่องจากทัพจ๊กก๊กมีเสบียงไม่เพียงพอ เสบียงอาหารที่ไม่เพียงพอมีสาเหตุมาจากฝนตกหนักและความผิดพลาดที่ทำโดยลิเงียม[2] จูกัดเหลียงผู้สำเร็จราชการของจ๊กก๊กใช้เวลาพักฟื้นสามปีก่อนจะบุกวุยก๊กอีกครั้งในปี ค.ศ. 234
ภูมิหลัง
[แก้]ในปี ค.ศ. 217 หวดเจ้งนักยุทธศาสตร์ของเล่าปี่เสนอว่าเมืองฮันต๋งสามารถใช้เป็นฐานปฏิบัติการเพื่อโจมตีภาคกลางของวุยก๊กและเข้ายึดอาณาบริเวณทางตะวันตกของวุยก๊กอันได้แก่มณฑลเลียงจิ๋วและยงจิ๋วได้[3] ตั้งแต่นั้นแผนของหวดเจ้งก็กลายเป็นพิมพ์เขียวของการทำศึกต่อวุยก๊ก จูกัดเหลียงพยายามบุกดินแดนวุยก๊กผ่านเขากิสานในการบุกครั้งแรกแต่ไม่สำเร็จ จึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นตันฉอง (陳倉 เฉินชาง; อยู่ทางตะวันออกของนครเป่าจี มณฑลฉ่านซี) ซึ่งเป็นป้อมปราการปากทางที่ป้องกันนครเตียงฮัน แต่หลังจากความล้มเหลวในการยึดตันฉอง จูกัดเกลียงก็เปลี่ยนเส้นทางโจมตีอีกครั้งไปทางตะวันตก ในต้นปี ค.ศ. 231 จูกัดเหลียงรวบรวมกำลังทหารเพื่อพิชิตหล่งโย่ว (隴右) โดยตั้งให้เขากิสานเป็นเป้าหมายเบื้องต้น ก่อนที่จูกัดเหลียงจะเคลื่อนทัพไปยังเขากิสาน ได้ส่งทูตไปพบชนเผ่าเซียนเปย์และเกี๋ยงเพื่อยุยงให้ชนเผ่าเหล่านั้นก่อความวุ่นวายในวุยก๊ก ในเวลาเดียวกันจูกัดเหลียงยังประดิษฐ์ "โคยนตร์" อุปกรณ์กลไกที่ช่วยในการขนส่งเสบียงอย่างมาก
ยุทธการ
[แก้]เป้าหมายของจ๊กก๊กที่จะยึดหล่งโย่วนั้นไม่อาจทำได้โดยง่าย เพราะฝ่ายวุยก๊กได้เตรียมการรับมือการบุกของจ๊กก๊กโดยการให้เจี่ย ซื่อ (賈嗣) และงุยเป๋ง (魏平 เว่ย์ ผิง) ไปประจำการอยู่ที่เขากิสานและตั้งแนวป้องกันเบื้องต้นสำหรับเมืองเทียนซุย (天水郡 เทียนฉุ่ยจฺวิ้น) ขณะเดียวกันก็ให้ไต้เหลง (戴陵 ไต้ หลิง) และปีเอียว (費曜 เฟ่ย์ เย่า) ไปประจำการกองกำลังแยกในใจกลางของเมืองเทียนซุย จูกัดเหลียงขอความช่วยเหลือของห่อปี (軻比能 เคอปี่เหนิง) ประมุขของชนเผ่าเซียนเปย์ให้ไปที่เมืองเป่ย์ตี้ (北地郡 เป่ย์ตี้จฺวิ้น; อยู่บริเวณใจกลางมณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เพื่อระดมกำลังคนท้องถิ่นในการสนับสนุนทัพจ๊กก๊ก[4] การบุกเริ่มต้นขึ้นด้วยการปะทะขนาดย่อมที่เขากิสาน ทำให้โจจิ๋นขุนพลวุยก๊กรู้สึกการโจมตีครั้งนี้เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อปกปิดการบุกครั้งใหญ่ผ่านเทือกเขาฉินหลิ่งมุ่งเป้าไปที่เตียงฮัน โจจิ๋นจึงรวบรวมกำลังป้องกันส่วนใหญ่ในเตียงฮันก่อนที่สุมาอี้จะมาแทนที่โจจิ๋นในฐานะแม่ทัพใหญ่ของทัพวุยก๊กในมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋ว ขุนพลวุยก๊กเตียวคับ ปีเอียว ไต้เหลง และกุยห้วยทำหน้าที่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้[5]
จากนั้นสุมาอี้จึงมอบหมายให้ไต้เหลงและปีเอียวรักษาอำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ในนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่) พร้อมด้วยกองกำลังทหารฝีมือดี 4,000 นาย แล้วให้กำลังทหารให้เหลือยกไปทางตะวันตกเพื่อไปช่วยเหลือเจี่ย ซื่อและงุยเป๋ง[6] เตียวคับแนะนำสุมาอี้ให้ส่งกองกำลังแยกไปยังอำเภอยง (雍) และอำเภอไปเซีย (郿 เหมย์) เพื่อให้เป็นกองกำลังสำรอง แต่สุมาพูดว่า "ข้าเชื่อว่าทัพหน้าสามารถรับศึกไว้ได้ ที่ท่านขุนพลพูดนั้นถูกต้อง หากทัพหน้าไม่อาจรับศึกได้ เราจะแยกเออกเป็นหน้าและหน้า นี่เป็นเป็นวิธีที่หยินโป้ (英布 อิง ปู้) ใช้เอาชนะสามทัพของรัฐฌ้อ (楚 ฉู่)"[7]
จากนั้นทัพวุยก๊กก็รุดหน้าไปยังอำเภอยฺหวีหมี (隃麋縣 ยฺหวีหมีเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกของอำเภอเชียนหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เมื่อจูกัดเหลียงทราบข่าวว่าทัพวุยก๊กมาถึงแล้ว จึงสั่งให้กำลังทหารไปเก็บเกี่ยวข้าวสาลีในอำเภอเซียงเท้ง[8] เมื่อทัพวุยก๊กมาใกล้มากขึ้น จูกัดเหลียงก็เตรียมกำลังทหารพร้อมเผชิญหน้ากับสุมาอี้ ฝ่ายกุยห้วย ปีเอียว และขุนพลวุยก๊กคนอื่น ๆ เข้าโจมตีจูกัดเหลียงแต่ถูกตีแตกพ่าย หลังจูกัดเหลียงขับไล่ข้าศึกออกไป ก็ให้ทหารออกหาข้าวสาลีแรกแตกรวงซึ่งหาได้ในบริเวณใกล้เคียง[9]
เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้กลัวว่าจะเสียข้าวสาลีไป แต่สุมาอี้พูดว่า "จูกัดเหลียงคิดมากเกินไปและตัดสินใจไม่เด็ดขาด เขาจะต้องเสริมกำลังป้องกันค่ายก่อนที่จะมาเก็บเกี่ยวข้าวสาลี สองวันก็เพียงพอสำหรับข้าแล้ว (ที่จะไปถึงอำเภอเซียงเท้ง)" จากนั้นสุมาอี้จึงนำกำลังทหารเดินทางตลอดคืนไปยังอำเภอเซียงเท้ง จูกัดเหลียงล่าถอยไปหลังเห็นว่าสุมาอี้มาถึง สุมาอี้แสดงความคิดเห็นว่า "ข้าเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางทั้งวันทั้งคืน เพราะข้ารู้ว่าอะไรคือความต้องการของนักการทหาร จูกัดเหลียงไม่กล้าจะอยู่ใกล้แม่น้ำอุยโห นี่กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับข้า"[10] เดิมโจยอยจักรพรรดิวุยก๊กต้องการสนับสนุนเสบียงของทัพสุมาอี้ด้วยข้าวสาลีในอำเภอเซียงเท้งและปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้ขนส่งเสบียงจากกวนต๋งไปยังแนวหน้า แต่ความเคลื่อนไหวของจูกัดเหลียงกลับรวดเร็วกกว่าที่โจยอยทรงคาดการณ์ไว้ เหลือข้าวสาลีที่ผลิตในอำเภอเซียงเท้งเพียงส่วนหนึ่งหลังจากทัพจ๊กก๊กได้มาเก็บเกี่ยว กุยห้วยขุนพลวุยก๊กจึงใช้อิทธิพลของตนเหนือชนเผ่าเร่ร่อนท้องถิ่นในการสั่งให้ชนเผ่าเร่ร่อนผลิตเสบียงสำหรับทัพวุยก๊ก[11] ทัพวุยก๊กจึงได้รับเสบียงโดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากราชสำนักในลกเอี๋ยง
หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวสาลีในอำเภอเซียงเท้ง จูกัดเหลียงนำทัพจ๊กก๊กล่าถอยแต่เผชิญหน้ากับทัพวุยก๊กนำโดยสุมาอี้ที่ฮันหยง (漢陽 ฮั่นหยาง) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของอำเภอเซียงเท้ง จากนั้นสุมาอี้สั่งให้ทหารจัดกระบวนทัพและส่งงิวขิ้มนายทหารใต้บังคับบัญชาให้นำทหารม้าอาวุธเบาล่อทัพจ๊กก๊กให้เคลื่อนไปยังเขากิสาน หลังจากที่ม้าต้ายนายทัพหน้าของจ๊กก๊กเข้ารบกับงิวขิ้มเป็นเวลาสั้น ๆ จูกัดเหลียงก็สั่งให้ถอยทัพไปยังฝั่งตะวันออกของสันเขากิสาน ทัพจ๊กก๊กไปตั้งค่ายอยู่ที่โลเสีย (鹵城 หลู่เฉิง) จูกัดเหลียงใช้แม่น้ำเป็นแนวป้องกันธรรมชาติและสั่งให้กำลังทหารประจำตำแหน่งบนเนินเขาสองลูกที่ขนาบโลเสียอยู่ และตั้ง "ค่ายกำบัง" ใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำเพื่อควบคุมเส้นทางน้ำไว้[12][13]
ผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้เสนอให้สุมาอี้โจมตีทัพจ๊กก๊กหลายครั้ง แต่สุมาอี้รีรอที่จะโจมตีเมื่อเห็นการเตรียมการของจูกัดเหลียง อย่างไรก็ตามเมื่อสุมาอี้ถูกวิพากย์วิจารณ์และเยาะเย้ยอย่างหนักจากทั้งฝ่ายข้าศึกและผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง ในที่สุดสุมาอี้จึงยอมทำตามที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 231 สุมาอี้ส่งเตียวคับไปโจมตีค่ายทางใต้ของทัพจ๊กก๊กที่มีอองเป๋งรักษา ส่วนตัวสุมาอี้เองนำกองกำลังด้วยตนเองเข้าโจมตีโลเสียจากเส้นทางกลาง[14] จูกัดเหลียงสั่งให้อุยเอี๋ยน งอปั้น และโกเสียงให้ต้านทานข้าศึกอยู่นอกโลเสีย ทัพวุยก๊กประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่อย่างคาดไม่ถึง ทหารวุยก๊กถูกสังหาร 3,000 นาย ชุดเกราะ 5,000 ชุดและหน้าไม้ 3,100 อันถูกทัพจ๊กก๊กยึดไปได้[15] แม้ว่าความเสียหายจะหนักหน่วง แต่สุมาอี้ยังคงมีกำลังทหารจำนวนมากซึ่งนำกลับไปยังค่ายของตน
แม้ว่าจูกัดเหลียงจะได้ชัยชนะ แต่ก็ไม่สามารถใช้ความได้เปรียบนี้ในการบุกต่อไปเพราะเสบียงที่เหลือน้อย สภาพอากาศที่เลวร้ายทำให้การขนส่งเสบียงของจ๊กก๊กไม่สามารถทำได้ตามกำหนด ลิเงียมขุนพลจ๊กก๊กผู้รับผิดชอบดูแลการขนส่งเสบียงไปยังแนวหน้า จึงแจ้งความเท็จไปถึงจูกัดเหลียงว่าจักรพรรดิเล่าเสี้ยนมีรับสั่งถอยทัพ จดหมายเหตุจิ้นชูอ้างว่าสุมาอี้เปิดฉากการโจมตีกำลังทหารรักษาของจ๊กก๊กในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้และยึด "ค่ายกำบัง" ของจ๊กก๊กสำเร็จ จูกัดเหลียงทิ้งโลเสียและล่าถอยไปในเวลากลางคืน แต่สุมาอี้ไล่ตามตีทำให้ทัพจ๊กก๊กเสียทหารไปประมาณ 10,000 นาย[16] เรื่องราวนี้ในจิ้นชูถูกโต้แย้งโดยนักประวัติศาสตร์[17][18] และไม่ถูกรวมอยู่ในจือจื้อทงเจี้ยนซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลาที่โดดเด่นในศตวรรษที่ 11[1]
ทั้งสามก๊กจี่และจือจื้อทงเจี้ยนระบุว่าจูกัดเหลียงถอยทัพกลับจ๊กก๊กเพราะเสบียงขาดแคลน ไม่ใช่เพราะความพ่ายแพ้[19][20] แล้วทัพวุยก๊กก็ไล่ตามตี แต่การไล่ตามตีไม่ได้ราบรื่นสำหรับวุยก๊ก สุมาอี้สั่งให้เตียวคับไล่ตามตีข้าศึกเพื่อพยายามฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ บันทึกเว่ย์เลฺว่ระบุว่าเตียวคับปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของสุมาอี้และแย้งว่าตามหลักการทางการทหารควรหลีกเลี่ยงการไล่ตามตีข้าศึกที่ล่าถอยกลับไปอาณาเขตของตน แต่สุมาอี้ไม่ฟังคำและบังคับให้เตียวคับปฏิบัติตามคำสั่ง เตียวคับจึงถูกทัพจ๊กก๊กซุ่มโจมตีที่เส้นทางบอกบุ๋น (木門道 มู่เหมินเต้า; ใกล้กับหมู่บ้านมู่เหมิน เมืองหมู่ตาน เขตฉินโจว นครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ที่ซึ่งจูกัดเหลียงสั่งให้ทหารมือเกาทัณฑ์ซ่อนตัวบนที่สูงและยิงไปที่กองกำลังของข้าศึกที่เข้ามาใกล้และเข้ามาในทางแคบ เตียวคับเสียชีวิตหลังถูกลูกเกาทัณฑ์ยิงเข้าที่ต้นขา กองกำลังของวุยก๊กได้รับความเสียหายอย่างมากจากการโจมตีของทหารจ๊กก๊กซึ่งกำลังล่าถอย แตกต่างจากบันทึกที่ระบุไว้ในจิ้นชู[21]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]เมื่อจูกัดเหลียงกลับมาถึงเมืองฮันต๋ง ก็ได้รับจดหมายจากลิเงียมที่แจ้งว่าเสบียงอาหารเตรียมพร้อมแล้วและถามว่าทำไมจึงถอยทัพ เวลาเดียวกันลิเงียมถวายฎีกาแก่จักรพรรดิเล่าเสี้ยนทูลว่า "ทัพแสร้งทำเป็นล่าถอยเพื่อลงข้าศึกให้มาทำศึก" ด้วยความหวังว่าจูกัดเหลียงจะกลับไปทำศึกต่อ ความล้มเหลวในการขนส่งเสบียงของตัวลิเงียมก็จะไม่เป็นที่สังเกต แต่จูกัดเหลียงตัดสินใจกลับไปยังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก และถวายจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของลิเงียมให้เล่าเสี้ยนทอดพระเนตร ลิเงียมจึงไม่อาจปฏิเสธความผิดของตนได้ ที่เซงโต๋จูกัดเหลียงทูลเสนอให้จักรพรรดิเล่าเสี้ยนปลดลิเงียมจากทุกตำแหน่งราชการและเนรเทศไปอยู่เมืองจื่อถง (梓潼)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
- ↑ (亮慮糧運不繼,設三策告都護李平曰:上計斷其後道。中計與之持久。下計還住黃土。) พงศาวดารหฺวาหยาง เล่มที่ 7.
- ↑ (〔克漢中〕之日,廣農積谷,觀釁伺隙,上可以傾覆寇敵,尊獎王室,中可以蠶食雍、涼,廣拓境土 ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 37.
- ↑ (漢晉春秋曰:亮圍祁山,招鮮卑軻比能,比能等至故北地石城以應亮。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (乃使帝西屯長安,都督雍、梁二州諸軍事,統車騎將軍張郃、後將軍費曜、征蜀護軍戴淩、雍州刺史郭淮等討亮。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
- ↑ (漢晉春秋曰:"宣王使曜、陵留精兵四千守上邽,餘眾悉出,西救祁山。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (張郃勸帝分軍住雍、郿為後鎮,帝曰:「料前軍獨能當之者,將軍言是也。若不能當,而分為前後,此楚之三軍所以為黥布擒也。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
- ↑ (遂進軍隃麋。亮聞大軍且至,乃自帥衆將芟上邽之麥。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
- ↑ (亮分兵留攻,自逆宣王於上邽。郭淮費耀等徼亮,亮破之,因大芟刈其麥,與宣王遇於上邽之東,斂兵依險,軍不得交,亮引兵而還,宣王尋亮至於鹵城。) ฮั่นจิ้นชุนชิว เล่มที่ 02.
- ↑ (諸將皆懼,帝曰:「亮慮多決少,必安營自固,然後芟麥,吾得二日兼行足矣。」於是卷甲晨夜赴之,亮望塵而遁。帝曰:「吾倍道疲勞,此曉兵者之所貪也。亮不敢據渭水,此易與耳。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
- ↑ (是時,隴右無谷,議欲關中大運,淮以威恩撫循羌、胡,家使出谷,平其輸調,軍食用足,轉揚武將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 26.
- ↑ (漢晉春秋曰:"亮屯鹵城,據南北二山,斷水為重圍。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (進次漢陽,與亮相遇,帝列陣以待之。使將牛金輕騎餌之,兵才接而亮退,追至祁山。亮屯鹵城,據南北二山,斷水為重圍。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
- ↑ (漢晉春秋曰:"使張郃攻無當監何平於南圍,自案中道向亮。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (漢晉春秋曰:亮使魏延、高翔、吳班赴拒,大破之,獲甲首三千級,玄鎧五千領,角弩三千一百張,宣王還保營。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (帝攻拔其圍,亮宵遁,追擊破之,俘斬萬計。天子使使者勞軍,增封邑。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
- ↑ (縱其後出,不復攻城,當求野戰,必在隴東,不在西也。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
- ↑ (時宣王等糧亦盡) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 7.
- ↑ (糧盡退軍) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (六月,亮以糧盡退軍) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
- ↑ (魏略曰:亮軍退,司馬宣王使郃追之,郃曰:「軍法,圍城必開出路,歸軍勿追。」宣王不聽。郃不得已,遂進。蜀軍乘高布伏,弓弩亂發,矢中郃髀。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 17.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.