[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลี ฮาร์วีย์ ออสวอด์
ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 1963 หลังวันลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี 1 วัน
เกิด18 ตุลาคม ค.ศ. 1939(1939-10-18)
นิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิตพฤศจิกายน 24, 1963(1963-11-24) (24 ปี)
ดัลลาส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
สาเหตุเสียชีวิตถูกฆาตกรรมโดยแจ็ก รูบี
สัญชาติอเมริกัน
ชื่ออื่นอเล็ก เจ. ฮิเดลล์
โอ. เอช. ลี
คู่สมรสมารีนา ปรูซาโควา (สมรส ค.ศ. 1961)
ลายมือชื่อ

ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ (อังกฤษ: Lee Harvey Oswald, 18 ตุลาคม ค.ศ. 1939 – 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963) เป็นมือปืนผู้สังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 35 ในดัลลาส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ตามการสรุปของหน่วยงานสอบสวนของรัฐสี่หน่วยงาน

เขาเป็นอดีตนาวิกโยธินสหรัฐ และแปรพักตร์เข้ากับสหภาพโซเวียตเป็นช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 1959 ถึงมิถุนายน ค.ศ. 1962 เดิมออสวอลด์ถูกจับกุมในข้อหายิงฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ. ดี. ทิพพิต บนถนนดัลลาสราว 40 นาทีหลังเคนเนดีถูกยิง เขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าลงมือลอบสังหารเคนเนดีด้วยเช่นกัน ออสวอลด์ปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุฆาตกรรมทั้งสองครั้ง สองวันให้หลัง ขณะกำลังถูกเคลื่อนย้ายตัวจากสำนักงานใหญ่ตำรวจไปยังเรือนจำของเคาน์ตี ออสวอลด์ถูกยิงเสียชีวิตโดยเจ้าของไนท์คลับ แจ็ก รูบี ต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ที่แพร่ภาพสด

ใน ค.ศ. 1964 คณะกรรมการวอร์เรนสรุปว่า ออสวอลด์กระทำการเพียงลำพังในการลอบสังหารเคนเนดี โดยยิงกระสุนออกไปสามนัด อันเป็นข้อสรุปที่การสืบสวนก่อนหน้า อันได้แก่ สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกาและกรมตำรวจดัลลาส บรรลุเช่นกัน อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. 1979 คณะกรรมการสอบสวนการลอบสังหารแต่งตั้งโดยรัฐสภา สรุปว่าออสวอลด์อาจมิได้ลงมือเพียงลำพัง หลักฐานสนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวมีการโต้แย้งอย่างกว้างขวางนับแต่นั้น

เหตุยิงเคนเนดีและทิพพิต

[แก้]

ตามข้อมูลการสอบสวนของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง รวมทั้งคณะกรรมการวอร์เรน ขณะที่ขบวนรถยนต์ของเคนเนดีผ่านดีลเลย์พลาซาของดัลลาส เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ออสวอลด์ยิงกระสุนไรเฟิลสามนัด "... ในช่วงเวลาระหว่างประมาณ 4.8 วินาที ถึงเกิน 7 วินาที" จากชั้นหก หน้าต่างหัวมุมตะวันออกเฉียงใต้ของอาคารเก็บหนังสือโรงเรียนเท็กซัส (อังกฤษ: Texas School Book Depository)[1] ประธานาธิบดีถูกกระสุนสองนัด ซึ่งทำให้เขาถึงแก่อสัญกรรมและทำให้ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส จอห์น คอนแนลลี ได้รับบาดเจ็บสาหัส

ตามคณะกรรมการวอร์เรน ทันทีหลังถูกยิง ออสวอลด์ซ่อนไรเฟิลไว้หลังกล่องสักกล่อง และลงจากอาคารโดยใช้ปล่องบันไดด้านหลัง เกือบเก้าสิบนาทีหลังเหตุยิง ในห้องอาหารกลางวันชั้นสอง เขาพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแมเรียน เบเกอร์ (Marrion Baker) ร่วมกับหัวหน้าของออสวอลด์ รอย ทรูลี (Roy Truly) เบเกอร์ปล่อยให้ออสวอลด์ผ่านไปหลังทรูลีระบุว่าเขาเป็นลูกจ้าง ตามข้อมูลของเบเกอร์ ออสวอลด์มิได้มีอาการประหม่าหรือกระหืดกระหอบแต่อย่างใด[2] นางโรเบิร์ต เรด (Robert Reid) หัวหน้าฝ่ายธุรการที่อาคารเก็บ กลับไปยังสำนักงานของเธอภายในสองนาทีหลังเกิดเหตุลอบสังหาร เธอว่าเห็นออสวอลด์ผู้ "ใจเย็นมาก" บนชั้นสอง พร้อมด้วยโค้กอยู่ในมือ[3] ออสวอลด์ออกจากอาคารโดยใช้บันไดหน้า และออกจากอาคารเก็บผ่านทางเข้าด้านหน้าไม่นานก่อนที่ตำรวจจะปิดกั้นการเข้าออก หัวหน้าของออสวอลด์ ภายหลังชี้แก่เจ้าหน้าที่ว่าออสวอลด์เป็นลูกจ้างเพียงคนเดียวที่เขามั่นใจว่าหายไปจากอาคารหลังเหตุลอบสังหาร แม้เขาจะเชื่อว่ามีคนอื่นอีกเช่นกัน[4][5]

เมื่อเวลาประมาณ 12.40 น. ออสวอลด์ขึ้นรถโดยสารประจำทางของนคร แต่เขาขอลงรถ ซึ่งอาจเป็นเพราะการจราจรที่ติดขัด และลงจากรถอีกสองช่วงตึกถัดมา[6] เขานั่งรถแท็กซี่ไปยังห้องเช่า ที่เลขที่ 1026 ถนนนอร์ทเบคเลย์ ถึงเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. เขาเข้าผ่านประตูหน้า ตามข้อมูลของแม่บ้าน เอียร์ลีน โรเบิร์ตส์ (Earlene Roberts) เขาไปยังห้องของเขาทันที และ "เดินค่อนข้างเร็ว"[7] นางโรเบิร์ตส์ให้การว่าออสวอลด์ออกจากอาคาร "ไม่กี่นาที" ให้หลัง รูดซิปแจ็กเก็ตที่เขาไม่ได้ใส่เข้ามาในอาคาร และเธอเห็นออสวอลด์ครั้งสุดท้ายขณะยืนอยู่ที่ที่หยุดรถโดยสารประจำทางถนนเบคเลย์ทางเหนือ ด้านหน้าบ้าน[8]

พยานคนต่อไปพบเห็นออสวอลด์ใกล้กับหัวมุมถนนอีสต์ที่ 10 และถนนนอร์ทแพตตัน ห่างไปประมาณ 1.4 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือจากห้องชุดของเขา อันเป็นระยะทางซึ่งคณะกรรมการวอร์เรนว่า "ออสวอลด์สามารถเดินไปได้ง่าย ๆ"[9] ตามข้อมูลของคณะกรรมการวอร์เรน ที่ตรงนั้นมีตำรวจลาดตระเวน เจ. ดี. ทิพพิต (อังกฤษ: J. D. Tippit) ขับรถขนาบข้างออสวอลด์และ "มีการต่อปากต่อคำกันอย่างชัดเจนด้วยหน้าต่างด้านคนขับหรือช่องลม" เมื่อเวลาประมาณ 13.11-13.14 น. ทิพพิตออกจากรถของเขาและถูกตีและยิงสี่นัดเสียชีวิตทันที[10][11] พยานหลายคนได้ยินเสียงปืนและเห็นชายคนหนึ่งวิ่งหนีจากจุดเกิดเหตุโดยถือปืนลูกโม่[12] พบปลอกกระสุนปืน 4 นัดที่จุดเกิดเหตุ ซึ่งได้รับการยืนยันโดยพยานผู้เชี่ยวชาญ[13] ก่อนคณะกรรมการวอร์เรนและคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นนั้นสรุปว่าปลอกกระสุนทั้งหมดยิงมาจากปืนพกลูกโม่ซึ่งภายหลังพบว่าอยู่ในความครอบครองของออสวอลด์ ไม่เหมือนกับอาวุธอื่น อย่างไรก็ดี กระสุนที่มาจากร่างของทิพพิตไม่อาจระบุได้ว่ามาจากปืนพกลูกโม่ของออสวอลด์[13][14]

การถูกจับกุม

[แก้]

ผู้จัดการร้านรองเท้า จอห์นนี บรีเวอร์ ให้การว่าอีกไม่กี่นาทีให้หลัง เขาเห็นออสวอลด์หลบซ่อนเข้าไปในห้องทางเข้าของร้านของเขา ด้วยความสงสัยในพฤติกรรมนี้ บรีเวอร์จึงได้เฝ้าดูออสวอลด์เดินต่อไปตามถนนและเข้าไปในโรงภาพยนตร์เท็กซัส (อังกฤษ: Texas Theatre) ใกล้ๆ อย่างเงียบเชียบ โดยไม่จ่ายเงิน[15] เขาเตือนพนักงานขายตั๋วของโรงภาพยนตร์ ซึ่งโทรศัพท์เรียกตำรวจ[16] เมื่อเวลาประมาณ 13.40 น.

เมื่อตำรวจมาถึง และบรีเวอร์ชี้ตัวออสวอลด์ซึ่งกำลังนั่งอยู่ใกล้กับด้านหลังของโรงภาพยนตร์ ออสวอลด์ดูเหมือนว่าจะยอมจำนน โดยกล่าวว่า "เอาละ มันจบสิ้นแล้ว" ก่อนจะโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาถูกปลดอาวุธหลังมีการต่อสู้ขัดขืน[17] ระหว่างที่เขาถูกนำออกจากโรงภาพยนตร์ ออสวอลด์ตะโกนว่าเขาเป็นเหยื่อความรุนแรงจากตำรวจ[18]

เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ออสวอลด์มาถึงอาคารกรมตำรวจ ที่ซึ่งเขาถูกตั้งคำถามโดยนักสืบ จิม ลีเวลล์ (Jim Leavelle) เกี่ยวกับการยิงเจ้าหน้าที่ทิพพิต เมื่อร้อยเอก เจ. ดับเบิลยู. ฟริทซ์ ได้ยินชื่อของออสวอลด์ เขาจำได้ว่าเป็นชื่อของลูกจ้างอาคารเก็บหนังสือผู้ได้รับรายงานว่าสูญหายและเป็นผู้ต้องสงสัยในการลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดีแล้ว[19][20] ออสวอลด์ถูกบันทึกข้อหาฆาตกรรมทั้งสองบุคคล และเมื่อถึงคืนนั้น เขาถูกกล่าวหาด้วยเช่นกัน[21]

ไม่นานหลังออสวอลด์ถูกจับกุม เขาพบกับผู้สื่อข่าวในห้องโถง และบอกว่า "ผมไม่ได้ยิงใครทั้งนั้น" และ "พวกเขาจับผมเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าผมเคยอยู่ในสหภาพโซเวียต ผมเป็นแค่แพะรับบาป!" ภายหลัง ในการประชุมกับสื่อที่จัดขึ้น ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งถามว่า "คุณฆ่าประธานาธิบดีหรือ" และออสวอลด์ ผู้ซึ่งในขณะนั้นถูกแจ้งให้ทราบถึงข้อหาฆาตกรรมทิพพิต แต่ยังไม่ถูกแจ้งข้อหาฆาตกรรมเคนเนดี ตอบว่า "ไม่ ผมไม่ได้ถูกตั้งข้อหานั้น อันที่จริงแล้ว ไม่มีใครบอกผมเรื่องนี้เลย สิ่งแรกที่ผมได้ยินคือจากผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในห้องโถงที่ถามผมอย่างนั้น" และเมื่อเขาถูกนำออกจากห้อง มีการตั้งคำถามว่า "คุณทำอะไรในสหภาพโซเวียต" และ "ทำไมดวงตาของคุณบาดเจ็บ" ออสวอลด์ตอบว่า "ตำรวจตีผม"[22][23][24]

การสืบสวนของตำรวจ

[แก้]

ออสวอลด์ถูกสอบปากคำหลายครั้งระหว่างสองวันที่เขาอยู่ในกองบัญชาการตำรวจดัลลาส เขาปฏิเสธว่าลงมือฆ่าเคนเนดีและทิพพิต ปฏิเสธว่าเป็นเจ้าของปืนไรเฟิล โดยกล่าวว่า ภาพถ่ายสองภาพของเขาขณะกำลังถือปืนไรเฟิลและปืนพกเป็นของปลอม ปฏิเสธการบอกเพื่อนร่วมงานของเขาว่าต้องการนั่งรถไปยังเออร์วิงเพื่อไปเอาราวผ้าม่านกลับไปยังอพาร์ตเมนต์ของเขา และปฏิเสธถือพัสดุที่ยาวและหนักไปทำงานในช่วงเช้าของวันที่เกิดเหตุลอบสังหาร คณะกรรมการวอร์เรนยังระบุว่า ออสวอลด์ปฏิเสธว่าตนไม่รู้จักกับ เอ. เจ. ฮิเดล และเมื่อแสดงบัตรลงทะเบียนเป็นทหาร (Selective Service) ที่ทำปลอมขึ้น ซึ่งมีชื่อนั้นอยู่ในการครอบครองของเขาเมื่อถูกจับกุม เขาปฏิเสธที่จะตอบทุกคำถามที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่า "... คุณมีบัตรอยู่แล้วและคุณรู้มากเท่ากับที่ผมรู้"[25] คณะกรรมการวอร์เรนระบุว่าบัตรปลอมนี้มีชื่อของ อเล็ก เจมส์ ฮิเดล[26]

ระหว่างการสอบปากคำครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน ออสวอลด์ถูกตั้งคำถามถึงหลักฐานยืนยันที่อยู่ขณะที่ประธานาธิบดีถูกยิง ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่พิเศษเอฟบีไอ เจมส์ โฮสตี และตำรวจดัลลาส ร้อยเอกวิล ฟริตซ์ ออสวอลด์ระบุว่าเขากำลังทานอาหารกลางวันอยู่ในห้องอาหารชั้นแรกของอาคารเก็บหนังสือ จากนั้นขึ้นไปชั้นสองเพื่อรับโคคา-โคลา ที่ซึ่งเขาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ[27][28][29][30] ระหว่างการสอบปากคำครั้งสุกท้ายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ตามข้อมูลของผู้ตรวจการไปรษณีย์ แฮร์รี โฮมส์ ออสวอลด์ถูกถามอีกครั้งว่าเขาอยู่ที่ไหนขณะที่เกิดเหตุลอบสังหารขึ้น โฮมส์ ผู้เข้าร่วมการสอบปากคำตามคำเชิญของร้อยเอกวิล ฟริตซ์ ระบุว่า ออสวอลด์ตอบว่าเขากำลังทำงานอยู่ที่ชั้นบนเมื่อเกิดเหตุยิงขึ้น จากนั้นลงมาชั้นล่างที่ซึ่งพบกับตำรวจ[31]

ออสวอลด์ร้องขอที่ปรึกษาทางกฎหมายหลายครั้งขณะถูกสอบปากคำ เช่นเดียวกับเมื่อพบกับผู้สื่อข่าว แต่เมื่อผู้แทนจาก เนติบัณฑิตยสภาดัลลาส (Dallas Bar Association) มาพบเขาในห้องขังเมื่อวันเสาร์ เขาปฏิเสธบริการจากเนติบัณฑิตสภา โดยระบุว่าเขาต้องการให้จอห์น แอบท์ (John Abt) หัวหน้าทนายความของพรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐอเมริกา หรือโดยทนายความที่เกี่ยวโยงกับสหภาพเสรีภาพของพลเมืองอเมริกา[32][33] ทั้งออสวอลด์และรูธ ไพน์ (Ruth Paine) พยายามติดต่อแอบท์ โดยโทรศัพท์หลายครั้งทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์[34][35] แต่แอบท์ไม่อยู่ในช่วงสุดสัปดาห์[36] ออสวอลด์ยังปฏิเสธข้อเสนอของน้องชาย โรเบิร์ต เมื่อวันเสาร์ในการติดต่ออัยการท้องถิ่น[37]

เสียชีวิต

[แก้]

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ออสวอลด์ถูกนำตัวผ่านชั้นล่างของกองบัญชาการตำรวจดัลลาสในการเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังเรือนจำของเคาน์ตี เมื่อ เวลา 11.21 น. เจ้าของไนท์คลับดัลลาส แจ็ก รูบี ก้าวออกมาจากฝูงชนและยิงใส่ออสวอลด์ที่ท้อง ออสวอลด์เสียชีวิตเมื่อเวลา 13.07 น. ที่โรงพยาบาลอนุสรณ์พาร์คแลนด์ โรงพยาบาลเดียวกับที่เคนเนดีเสียชีวิตสองวันก่อน[38]

กล้องโทรทัศน์เครือข่ายกำลังออกอากาศสดอยู่ในขณะนั้น และผู้ชมหลายล้านคนเห็นภาพการยิงขณะที่เกิดขึ้น[39] เหตุการณ์ดังกล่าวยังมีถ่ายไว้จนเป็นภาพที่รู้จักกันดีอีกด้วย ภายหลังรูบีกล่าวว่า เขารู้สึกว้าวุ่นใจกับการถึงแก่อสัญกรรมของเคนเนดี และว่าเหตุจูงใจในการฆ่าออสวอลด์นั้นเป็นไปเพื่อ "... ช่วยมิให้คุณนายเคนเนดีสับสนจากการหวนกลับสู่ความเจ็บปวด"[40] หลายคนสันนิษฐานว่ารูบีเป็นส่วนหนึ่งของแผนสมคบคิด[41]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Shots from the Texas School Book Depository, Warren Commission Report, chapter 3, p. 117.
  2. Warren Commission Hearings, vol. 3, p. 263, Testimony of Marrion L. Baker.
  3. Warren Commission Hearings, vol. 3, pp. 273–275, Testimony of Mrs. Robert A. Reid
  4. Warren Commission Hearings, Testimony of Roy Sansom Truly.
  5. Warren Commission Hearings, Testimony of J.W. Fritz
  6. Bus transfer (.gif) เก็บถาวร 2011-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at Kennedy Assassination Home Page
  7. Warren Commission Hearings, vol. 6, pp. 438–439, Testimony of Earlene Roberts.
  8. Warren Commission Hearings, vol. 7, p. 439, Affidavit of Earlene Roberts.
  9. The Warren Report, Appendix 12, p. 648, Oswald's Movements Between 12:33 and 1:15 PM
  10. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WCR0095
  11. The third eyewitness was Jack Ray Tatum. Oswald–Tippit Associates, HSCA Appendix to Hearings, vol. 12, p. 40–41.
  12. Warren Commission Report, Chaper 4: The Assassin, Description of Shooting.
  13. 13.0 13.1 Warren Commission Hearings, vol. 3, pp. 466–473, Testimony of Cortlandt Cunningham. Warren Commission Hearings, vol. 3, p. 511, Testimony of Joseph D. Nicol.
  14. Tippit Murder: Findings and Conclusions, 7 HSCA 376.
  15. Testimony of Johnny Calvin Brewer, 7 H 3–5.
  16. Testimony of Julia Postal, 7 H 11.
  17. Warren Commission Hearings, Testimony of M. N. McDonald.
  18. "Oswald and Officer McDonald:The Arrest of Lee Harvey Oswald". Retrieved 2011-06-21.
  19. Copy of an undated statement made by Richard M. Sims and E. L. Boyd concerning the events surrounding the assassination, 21 H 512–514.
  20. Testimony of J.W. Fritz, 4 H 206.
  21. Warren Commission Report, Chapter 5: Detention and Death of Oswald, Chronology. Tippit murder affidavit: text, cover. Kennedy murder affidavit: text, cover.
  22. Warren Commission Hearings, vol. 20, p. 366, Kantor Exhibit No. 3 — Handwritten notes made by Seth Kantor concerning events surrounding the assassination.
  23. Lee Oswald claiming innocence (film), YouTube.com.
  24. Lee Oswald's Midnight Press Conference, YouTube.com.
  25. Warren Commission Report, pp. 180–182.
  26. vol. XVII of the Warren report with facsimile of card (CE 795) with Commission notation: "A spurious Selective Service System notice of classification card in the name "Alek James Hidell." See for the card (illustrated at right)
  27. Warren Commission Hearings, vol. 4, Testimony of James P. Hosty, Jr., pp. 467–468
  28. Testimony of Capt. J.W. Fritz, pp. 213–214 Commission Exhibit 2003
  29. Dallas Police Department file on investigation of the assassination of the President, "Interrogation of Lee Harvey Oswald", vol. 4, p. 265.
  30. FBI Report of Capt. J.W. Fritz, Warren Report, appendix 11, p. 600.
  31. Testimony of Harry D. Holmes, Warren Commission Hearings, vol. 7, pp. 297-302.
  32. Testimony of H. Louis Nichols, 7 H 328–329.
  33. Testimony of Harry D. Holmes, 7 H 299–300.
  34. Jesse E. Curry, Retired Dallas Police Chief Jesse Curry Reveals His Personal JFK Assassination File, Self-published, 1969, p. 74, affidavit of Dallas police officer Thurber T. Lord on August 20, 1964.
  35. Testimony of Ruth Hyde Paine, 3 H 88–89.
  36. Testimony of John J. Abt, 10 H 116.
  37. Robert L. Oswald, Lee: A Portrait of Lee Harvey Oswald by His Brother, Coward–McCann, 1967, p. 145.
  38. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Saturday2
  39. Bergreen, Laurence (1980). Look Now, Pay Later: The Rise of Network Broadcasting. New York: Doubleday and Company. ISBN 978-0451619662.
  40. Testimony of Jack Ruby, Warren Commission Hearings, vol. 5, pp. 198–200.
  41. G. Robert Blakey, chief council for the House Select Committee on Assassinations from 1977 to 1979, said, "The most plausible explanation for the murder of Oswald by Jack Ruby was that Ruby had stalked him on behalf of organized crime, trying to reach him on at least three occasions in the forty-eight hours before he silenced him forever." Goldfarb, Ronald (1995). Perfect Villains, Imperfect Heroes: Robert F. Kennedy's War Against Organized Crime. Virginia: Capital Books. p. 281. ISBN 1-931868-06-9.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Lee Harvey Oswald