[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ผักคราดหัวแหวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Acmella oleracea
Acmella oleracea
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Asterales
วงศ์: Asteraceae
สกุล: Acmella
สปีชีส์: A.  oleracea
ชื่อทวินาม
Acmella oleracea
(L.) R.K.Jansen

ผักคราดหัวแหวน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Acmella oleracea; ชื่อวิทยาศาสตร์เดิมคือ Spilanthes oleracea และ Spilanthes acmella; อังกฤษ: toothache plant, paracress) จัดอยู่ในวงศ์ Asteraceae ผักชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้าน นิยมรับประทานกันมาแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเป็นผักที่เป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพร และเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน อีกทั้งทางด้านเภสัชวิทยาช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ ต้านไวรัส ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ลดความดันโลหิต เพิ่มฤทธิ์ของฮิสตามีนในการทำให้ลำไส้หดเกร็ง ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันฆ่ายุง ฆ่าลูกน้ำยุง ทำให้ชัก เป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวด ลดความแรงและความถี่ของการบีบตัวของหัวใจห้องบน ยับยั้งการหดตัวของมดลูกซึ่งเหนี่ยวนำด้วย oxytocin

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

ผักคราดหัวแหวนเป็นพืชล้มลุก ลำต้นและกิ่งก้านมีขน สูงถึง 50 เซนติเมตร ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปไข่หรือไข่แกมใบหอก ขนาดกว้าง 1–2.5 เซนติเมตร ยาว 2–4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบเรียบถึงจักไม่แน่นอน มีก้านใบ ดอกช่อออกระหว่างซอกใบ ดอกเรียงเป็นช่อกระจุกแน่นรูปไข่ ก้านช่อดอกยาวถึง 10 เซนติเมตร มีริ้วประดับเรียงซ้อนสองชั้น รูปไข่แกมใบหอกหรือแกมขนาน ดอกย่อย วงชั้นนอกเป็นเพศเมีย ดอกชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีขนาดโตกว่าดอกชั้นนอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด เหนือรังไข่ ไม่มีระยางค์หรือขน ผลแห้งเป็นสันนูน มี 3 สัน ยาว 0.3 เซนติเมตร สีดำ ปลายมีระยางค์เป็นหนาม 1–2 อัน [1]

ชื่อท้องถิ่น

[แก้]
  • ภาคกลาง: ผักคราด
  • ภาคเหนือ: ผักเผ็ด
  • ภาคใต้: ผักตุ้มหู[1]

นิเวศวิทยา

[แก้]

ผักคราดหัวแหวนมีแหล่งกำเนิดจากประเทศบราซิล เขตร้อน และอเมริกา พบเป็นวัชพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปาปัวนิวกินี ขึ้นในที่ชื้น ตามที่รกร้างว่างเปล่า ข้างถนน หรือริมตลิ่ง[2]

สรรพคุณทางสมุนไพร

[แก้]
  • ใบ แก้ปวดศีรษะ แก้โลหิต เป็นพิษ
  • ดอก ขับน้ำลาย แก้โรคในคอ แก้ปวดฟัน แก้โรคติดอ่างในเด็ก รักษาแผลในปากในคอ แก้โรคลิ้นเป็นอัมพาต
  • เมล็ด เคี้ยวแก้ปากแห้ง
  • ทั้งต้น แก้พิษตานซาง แก้ริดสีดวง แก้ผอมเหลือง แก้บิด แก้เลือดออกตามไรฟัน ชงดื่ม ขับปัสสาวะ แก้หอบไอ แก้ไอกรน แก้ปวดบวม แก้ไขข้ออักเสบ แก้คันคอ แก้ทอนซิลอักเสบ แก้งูรัด สุนัขกัด พอกแก้พิษปวดบวม
  • ราก ต้มดื่ม เป็นยาถ่าย อมบ้วนปากแก้อักเสบในช่องปาก เคี้ยวแก้ปวดฟัน[3]


หมายเหตุ

เมื่อเอาก้านช่อดอกหรือลำต้นมาเคี้ยว จะทำให้รู้สึกชามากกว่าเคี้ยวแต่ใบอย่างเดียว ดังนั้นการจะนำมาใช้ในทางทำให้ชา เช่น แก้ปวดฟันหรือทางแก้ปวดบวม คันต่าง ๆ ก็น่าจะใช้ลำต้นหรือก้านช่อดอกซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าใช้ใบ การใช้แก้ปวดฟัน ให้เอาก้านสดมาเคี้ยวตรงบริเวณฟันซี่ที่ปวด เพื่อให้น้ำจากก้านซึมเข้าไปตรงที่ปวด จะทำให้ชาสามารถระงับอาการปวดฟันได้ดี  ถ้าฟันที่ปวดเป็นรู ใช้ขยี้ให้เละ อุดเข้าไปในรูนั้น สักครู่จะทำให้ชาและหายปวด (เคี้ยวแล้วประมาณ 1 นาที จะรู้สึกชาและจะชาอยู่ประมาณ 20 นาที ถ้ายังไม่หาย ก็เคี้ยวอีก 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าหายปวดไปได้นานและบางคนว่าจะไม่ปวดอีกเลย) เคี้ยวพืชนี้แล้วจะมีน้ำลายออกมาก ใช้เป็นสารกระตุ้นให้หลั่งน้ำลายได้ดี ยอดอ่อนใช้แกงกินหรือกินเป็นผักสดได้ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออกมาก ช่วยให้การย่อยในปากและกระเพาะดีขึ้น และกินแก้เลือดออกตามไรฟัน ใช้ตำพอกแผลและแผลเนื้อตายได้ ใช้ต้นนี้ร่วมกับใบหนาดใหญ่ และใบมะขามต้มอาบหลังฟื้นไข้ และในโรคปวดตามข้อ หญิงมีครรภ์และหลังคลอด

รากใช้เป็นยาถ่าย ใช้รากแห้ง 4-8 กรัม ต้มในน้ำ 1 ถ้วยกิน รากใช้ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปากและเจ็บคอ นอกจากนี้อาจใช้ก้านขยี้ทาแผลในปากเด็ก ซึ่งเกิดเนื่องจากร้อนใน


การขยายพันธุ์

[แก้]

การขยายพันธุ์ เมล็ด ปักชำมีรากออกตามข้อ ใช้ลำต้นปลูกโดยใช้ลำต้นที่มีข้อ 2–3 ข้อ ฝังลงไปในดินให้ส่วนยอดโผล่เหนือผิวดิน ฤดูกาลเก็บส่วนขยายพันธุ์ได้ตลอดปี สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตขึ้นทั่วไปในที่ลุ่ม ชื้นแฉะพบตามป่าละเมาะ[4][5][6]

องค์ประกอบทางเคมี

[แก้]

ดอกผักคราดหัวแหวนขาวเมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการต้มกลั่น (hydrodistillation) ได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.10 (สนใจรายละเอียด GC Chromatogram ติดต่อที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ[2]


สารเคมี

[แก้]

      ทั้งต้น พบ Sitosterol-O-Beta-D-glucoside, Alpha- และ Beta-Amyrin ester, Stigmasterol, Spiranthol, Spilantol, lsobutylamine [7]

ผลรายงานทางคลินิกของจีน

[แก้]

1.แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ต้นแห้งบดเป็นผง ทำเป็นยาน้ำเชื่อม (ในน้ำเชื่อม 10 ม.ล. มีเนื้อยานี้ 3.2 กรัม) กินครั้งละ 30 ม.ล. วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร10 วัน เป็น 1 รอบของการรักษาจากการรักษาคนไข้ 85 ราย) รักษา 2 รอบของการรักษา 8 ราย รักษารอบเดียว 77 ราย) พวกที่เริ่มเป็นรักษาหาย 30 ราย ได้ผลดีขึ้นอย่างเด่นชัด 22 ราย คนไข้หอบ 8 ราย รักษาหาย 1 ราย ได้ผลดีขึ้นอย่างเด่นชัด 7 ราย

2. ใช้เป็นยาชา เอาต้นนี้มาทำเป็นยาฉีดให้มีความเข้มข้น 50% ในการผ่าตัดหน้าท้อง ฉีดยานี้ลงไปทีละชั้น หลังจากนั้น 3-8 นาทีก็ทำการผ่าตัดได้ ระหว่างผ่าตัดอาจฉีดยาลงไปได้อีก เพื่อควบคุมอาการปวด ในการผ่าตัดที่ท้องหรือกระเพาะใช้ขนาด 100-150 ม.ล. ผ่าตัดเล็กใช้ 60-80 ม.ล. การใช้ทำให้ชาภายนอกหรือผ่าตัดในการคลอด หรือส่วนสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระเพาะ ท่อมทอนซิล จำนวน 346 ราย ทำให้ขาได้ผลดี 326 ราย ได้ผลพอใช้ได้ 17 ราย ล้มเหลว 3 ราย ในการตรวจก่อนและหลังการผ่าตัดเกี่ยวกับไตและเลือด ยังไม่พบอาการผิดปกติอะไร พวกที่แพ้ง่ายจะมีความดันเลือดลดลงเล็กน้อย และแผลหลังการผ่าตัด มักเป็นแผลเป็น[8]


หลักฐานทางวิทยาศาสตร์

[แก้]
  1.  ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่
    เมื่อฉีดน้ำคั้น สารสกัดน้ำ ความเข้มข้น 25% สารสกัดอัลกอฮอล์ 95% ความเข้มข้น 10% จากลำต้นพร้อมใบและดอก เข้าใต้ผิวหนังหนูตะเภา เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% ตามจุดที่กำหนดไว้ 4 จุด ปริมาณชนิดละ 0.1 มล. ทดสอบความรู้สึกชาด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น บันทึกการหดตัวของกล้ามเนื้อหลังหนู พบว่าน้ำคั้น สารสกัดน้ำ และสารสกัดอัลกอฮอล์ ทำให้หนูมีอาการชาทันที เช่นเดียวกับ lidocaine แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์น้อยกว่า สารสกัดอัลกอออล์ออกฤทธิ์ดีกว่าน้ำคั้นและสารสกัดน้ำ สารออกฤทธิ์น่าจะเป็นอัลคาลอยด์  และจากการนำสารสกัดอัลกอฮอล์จากส่วนเหนือดิน ความเข้มข้น 10% มาทดสอบกับเส้นประสาท siatic nerve ของกบ เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% พบว่าสารสกัดอัลกอฮอล์ออกฤทธิ์ชาได้เร็วกว่า lidocaine และเส้นประสาทที่ถูกทำให้ชาไปแล้วสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แสดงว่าสารสกัดไม่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท  เมื่อศึกษาดูผลของสารสกัดต่อเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกฉีดด้วยสารสกัดอัลกอฮอล์ ความเข้มข้น 10% ขนาด 0.1 มล. พบว่าภายใน 24 ชม. สภาพผิวหนังภายนอกไม่พบความผิดปกติ แต่เมื่อดูทางเนื้อเยื่อวิทยา ชั้นใต้ผิวหนังมีการบวมระหว่างเซลล์เล็กน้อย และมีการคั่งของหลอดเลือดฝอย ผิวหนังชั้น dermis มีลักษณะบวม แสดงให้เห็นว่าอักเสบ แต่ไม่พบเนื้อเยื่อตาย เมื่อผ่านไป 7 วัน ตรวจไม่พบความผิดปกติหลงเหลืออยู่ ส่วนผิวหนังบริเวณที่ฉีด lidocaine 2% ขนาด 0.1 มล. มีการบวมระหว่างเซลล์ และการคั่งในหลอดเลือดฝอยเช่นเดียวกับสารสกัด  7 วันหลังการฉีดยาตรวจไม่พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อเช่นกัน[9]
  2. การศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์ยาชาเฉพาะที่
    ทดลองในอาสาสมัคร 11 คน โดยการวางสารสกัดเอทานอลจากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% เปรียบเทียบกับ lidocaine 10% บนปลายลิ้น นาน 10 วินาที แล้วทดสอบอาการชาโดยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น พบว่ามีความแตกต่างของเวลาเริ่มต้นออกฤทธิ์ และระยะเวลาการออกฤทธิ์ระหว่างสารสกัดและยาชา สารสกัดจะออกฤทธิ์เร็วกว่า lidocaine (11.0 ± 4.3 และ 24.7 ± 9.6 วินาที ตามลำดับ) แต่สารสกัดมีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นกว่า lidocaine (7.0 ± 2.9 และ 9.1 ± 3.0 วินาที ตามลำดับ) [10] และมีการทดสอบในอาสาสมัคร 20 คน โดยวางสารสกัดเอทานอล 95% จากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% หรือ lidocaine 10% ที่เนื้อเยื่อบุผิวในกระพุ้งแก้ม บริเวณ upper canine นาน 5, 15 และ 30 วินาที แล้วทดสอบอาการชาโดยใช้เข็ม (gauge needle) เบอร์ 27 สอดเข้าไปในบริเวณที่ทดสอบ วัดระดับความเจ็บปวดจากการสอบถาม พบว่าทั้งสารสกัดและยาชาลดความเจ็บปวดได้ และไม่พบความแตกต่างระหว่างสารสกัดและยาชา มีเนื้อเยื่อตายในอาสาสมัครที่ได้รับสารสกัดนาน 15 และ 30 วินาที ในวันรุ่งขึ้น คาดว่าน่าจะเกิดจากภาวะขาดน้ำของเซลล์และการระคายเคืองจากเอทานอล แผลจะหายภายใน 2 วันต่อมา [11]
    แต่การศึกษาในผู้ป่วยหญิง 200 คน วางสำลีรองเฝือกลงบนตำแหน่งที่จะแทงเข็มให้น้ำเกลือที่หลังมือหรือแขนทั้ง 2 ข้าง แต่ตำแหน่งต้องตรงกันทั้ง 2 ข้างในคนเดียวกัน หยดอัลกอฮอล์ 70% ปริมาณ 0.5 มล. หรือหยดสารสกัดจากผักคราดหัวแหวนปริมาณ 0.5 มล. ลงบนสำลีรองเฝือกคนละข้าง ปิดทับด้วยเทบใสกันการระเหย กลุ่มที่ 1 ทิ้งไว้นาน 15 นาที กลุ่มที่ 2 ทิ้งไว้นาน 30 นาที แล้วจึงใช้เข็มเบอร์ 18 แทงตรงตำแหน่งที่ทายาไว้ข้างละเข็ม ประเมินผลความเจ็บปวดด้วยการสอบถาม  พบว่าในกลุ่ม 15 นาที สารสกัดมีมัธยฐานของฤทธิ์ระงับความเจ็บปวดอยู่ที่ระดับปานกลาง และอัลกอฮอล์อยู่ที่ระดับเจ็บนิดหน่อย ในกลุ่มที่ทาไว้ 30 นาที มัธยฐานของทั้งสารสกัดและอัลกอฮอล์อยู่ที่ระดับเจ็บปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบในคนเดียวกันกลุ่มที่ทานาน 15 นาที สารสกัดจะระงับความเจ็บปวดได้ดีกว่าอัลกอฮอล์ร้อยละ 70 จำนวน 29 ราย  แย่กว่า 43 ราย และเท่ากัน 28 ราย และไม่พบความแตกต่างของสารสกัดและอัลกอฮอล์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงว่าสารสกัดไม่มีความสามารถระงับความเจ็บปวดจากการแทงเข็มให้น้ำเกลือแตกต่างจากอัลกอฮอล์ 70% เลย แม้ว่าจะทิ้งไว้นานถึง 30 นาที ทั้งนี้คาดว่าสารสกัดไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ ซึ่งแตกต่างกับเนื้อเยื่อบุผิวที่ซึมผ่านได้ง่าย[12]
  3. ฤทธิ์ระงับปวด
    การศึกษาฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน พบว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นยาแก้ปวด เมื่อศึกษาด้วยวิธี Haffner’s tail clip   วิธีกระตุ้นให้เกิดการบิดของลำตัวด้วย acetylcholine  และทำให้เกิดความเจ็บปวดด้วย bradykinin ในหนูถีบจักรและหนูขาว พบว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์ระงับความเจ็บปวดต่ำ  ส่วนสกัดด้วยอัลกอฮอล์ 70% ระงับความเจ็บปวดด้วยความแรงที่ต่ำกว่าส่วนสกัดด้วยอีเทอร์  ส่วนที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ไม่แสดงฤทธิ์ลดความเจ็บปวดในทุกการทดลอง[13] และสารสกัดเอทานอลจากผักคราดหัวแหวนออกฤทธิ์ระงับปวดเล็กน้อย เมื่อศึกษาในรูปแบบของยาระงับปวดที่ออกฤทธิ์ระบบประสาทส่วนปลาย และไม่มีฤทธิ์ระงับปวด เมื่อศึกษาในรูปแบบของยาออกฤทธิ์ระงับปวดต่อระบบประสาทส่วนกลาง  (6)
  4. หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ
    เมื่อฉีดส่วนสกัดอีเทอร์  ส่วนสกัด 70% อัลกอฮอล์  และส่วนสกัดที่ไม่ถูกสกัดด้วยอีเทอร์ จากผักคราดหัวแหวนเข้าช่องท้องหนูถีบจักร  ความเข้มข้นของส่วนสกัดที่ทำให้หนูตาย 50% เท่ากับ 153 มก./กก. , 2.13 ก./กก. และ 3.5 ก./กก.  ตามลำดับ  ส่วนสกัดอีเทอร์มีความเป็นพิษเฉียบพลันมากที่สุด [14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
  2. 2.0 2.1 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-15. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "ผักคราดหัวแหวน" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  3. "สรรพคุณทางยา"
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-17. สืบค้นเมื่อ 2012-09-09.
  5. [1]
  6. "การขยายพันธุ์"
  7. "สารเคมีในผักคราดหัวแหวน"
  8. "ผลรายงานทางคลินิกของจีน"
  9. เชวงเกียรติ แสงศิรินาวิน บุญสม วรรณวีรกุล พนัก เฉลิมแสนยากร. ฤทธิ์ชาเฉพาะที่ของผักคราดหัวแหวน. รวบรวมผลงานวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536:91-9.
  10. Saengsirinavin C, Nimmanon V. Evaluation of topical anesthetic action of Spilanthes acmella on human tounge. Mahidol University Annual Research Abstracts and Bibliography of Non Formal Publication, 1988:25.
  11. Saengsirinavin C, Saengsirinavin S. Topical anesthetic activity of Spilanthes acmella extract in reducing injection pain. Mahidol University Annual Research Abstracts and Bibliography of Non Formal Publication, 1988:26.
  12. ปิ่น นิลประภัสสร กิติศักดิ์ พงศ์ธนา. การศึกษาฤทธิ์ระงับความรู้สึกที่ผิวของส่วนสกัดจากผักคราดหัวแหวนสำหรับการแทงน้ำเกลือ. รวบรวมผลงานวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536:101-4.
  13. ปัทมา เทพสิทธา. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากผักคราดหัวแหวน. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.
  14. "หลักฐานทางวิทยาศาสตร์"