[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดอกบัวตอง
ปลาหมอบัตเตอร์ (Heterotilapia buttikoferi) หนึ่งในปลาน้ำจืดที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในไทย[1]

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (อังกฤษ: introduced species) หมายถึงสิ่งมีชีวิตใด ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่นั้น ๆ หรือมีต้นกำเนิดอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ แต่เป็นชนิดพันธุ์หรือสิ่งมีชีวิตถูกนำเข้ามาหรือแพร่กระจายมาจากที่อื่น ชนิดพันธุ์ที่นำเข้ามานั้น อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลเสียต่อระบบนิเวศดั้งเดิมได้

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2542 ประเทศไทยมีจำนวนชนิดพรรณพืชต่างถิ่น 915 ชนิด แต่ในปัจจุบันมีพรรณพืชต่างถิ่นอีกหลายชนิดที่พบใหม่ โดยในปี พ.ศ. 2547 พบว่า มีจำนวน 1,763 ชนิด และจำนวนชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่คาดว่าเป็นชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นรุกราน มีจำนวน 14 ชนิด โดยหลายชนิดเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่ และชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เช่น ไมยราบยักษ์ บัวตอง และ ธูปฤๅษี เป็นต้น

ข้อมูลชนิดและจำนวนสัตว์ต่างถิ่น 4 กลุ่ม คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) นก (Birds) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibians) และสัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2547 ที่มีการนำเข้าและส่งออกในประเทศไทยและจัดอยู่ในอนุสัญญา CITES พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นทั้งหมด 258 ชนิด จำนวนทั้งสิ้น 25,004 ตัว และมีการส่งออกสัตว์ต่างถิ่น (โดยรวมทั้งชนิดสัตว์ที่มีประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิด และประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านของสัตว์ต่างถิ่น) ทั้งหมด 108 ชนิด จำนวนทั้งสิ้น 64,848 ตัว และเมื่อนำสัตว์ต่างถิ่นที่มีการส่งออก หักออกจากจำนวนสัตว์ต่างถิ่นที่มีการนำเข้าในประเทศแล้ว พบว่า มีจำนวนสัตว์ต่างถิ่นคงเหลือในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สัตว์ต่างถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายพันธุ์ และมีแนวโน้มการนำเข้าในประเทศมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ หรือผู้ที่ต้องการนำไปเลี้ยงที่มีเพิ่มจำนวนมากขึ้นนั่นเอง

ข้อมูลชนิดของแมลงต่างถิ่น (Alien species) และแมลงต่างถิ่นรุกราน (Invasive species) ที่พบในประเทศไทย พบแมลงต่างถิ่นจำนวนทั้งสิ้น 66 ชนิด ใน 7 อันดับ (ประกอบด้วย Coleoptera, Diptera, Hemiptera, Homoptera, Hymenoptera, Lepidoptera และ Thysanoptera) และจัดเป็นแมลงต่างถิ่นรุกราน จำนวน 29 ชนิด ในทั้ง 7 อันดับ

แมลงต่างถิ่นที่ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2549 มีแนวโน้มของจำนวนตัวและจำนวนชนิดค่อนข้างมาก โดยพบว่าแมลงที่นำเข้ามาส่วนใหญ่เป็นพวกกลุ่มผีเสื้อ (Butterflies) และกลุ่มด้วง (Beetles) พบทั้งหมด 47 ชนิด 5,790 ตัว

สัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศไทย ได้มีการนำเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ปลาเงินปลาทอง (Carassius auratus) เพื่อใช้เพาะเลี้ยงเป็นอาหารและสัตว์น้ำสวยงาม ปัจจุบันพบว่ามีสัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศไทยมากกว่า 1,100 ชนิด จากประเทศต่าง ๆ เช่น ปลา ประมาณ 1,000 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประมาณ 50 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ประมาณ 50 ชนิด หอย 3 ชนิด กุ้ง ปู 8 ชนิด

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน

[แก้]

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive alien species) หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species)ที่เกิดขึ้นในที่ที่แตกต่างจากพื้นที่การแพร่กระจายตามธรรมชาติ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิดแพร่ระบาดจนกลายเป็นรุกราน (invasive alien species) หมายถึงว่า ชนิดพันธุ์นั้นคุกคามระบบนิเวศ แหล่งที่อยู่อาศัย หรือชนิดพันธุ์อื่น ๆ มีหลายปัจจัยที่มีผลเกื้อหนุนให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นตั้งรกรากและรุกรานในที่สุด เป็นที่ทราบกันว่า อิทธิพลทางกายภาพและทางเคมีที่มนุษย์ มีต่อระบบนิเวศได้เพิ่มโอกาสให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น กลายเป็นชนิดพันธุ์ที่แพร่ระบาดและรุกราน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "10 ปลาเอเลี่ยนในเมืองไทย ที่กำลังยึดแหล่งน้ำโดยคุณไม่รู้ตัว". spokedark. August 13, 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-30. สืบค้นเมื่อ June 30, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]