[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ข้าวเหนียวมะม่วง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้าวเหนียวมะม่วง
ข้าวเหนียวมะม่วง
มื้อขนมหวาน
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้องไทย, ลาว, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์
ส่วนผสมหลักข้าวเหนียว, มะม่วง, กะทิ
ข้าวเหนียวมะม่วง
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 230 กรัม
พลังงาน360 กิโลแคลอรี (1,500 กิโลจูล)
68 g
น้ำตาล64 g
ใยอาหาร2 g
8 g
อิ่มตัว3 g
ทรานส์0 g
4 g
แร่ธาตุ
โซเดียม
(12%)
180 มก.
องค์ประกอบอื่น
คอเลสเตอรอล0 mg
ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่
แหล่งที่มา: สถาบันอาหาร

ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นขนมพื้นถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ นิยมรับประทานในช่วงฤดูร้อน[1] เนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยวมะม่วง[2] ทำมาจากข้าวเหนียว มะม่วง และกะทิ[3] มีอายุการเก็บรักษาที่สั้นและมีปริมาณแคลอรี่ น้ำตาล และปริมาณไขมันสูง[4]

ข้าวเหนียวมะม่วงโดยทั่วไปประกอบด้วยข้าวเหนียวมูนที่แต่งรสหวานโดยใช้น้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลมะพร้าว มูนเข้ากับกะทิและเกลือ[5] รูปแบบที่รับประทานในประเทศไทยนิยมใช้มะม่วงสุกซึ่งมีรสชาติหวานกว่ามะม่วงดิบ โดยนิยมใช้มะม่วงน้ำดอกไม้เป็นพิเศษ และอาจพบว่าใช้มะม่วงอกร่องได้เช่นกัน[6]

ข้าวเหนียวมะม่วงในแต่ละภูมิภาค

[แก้]

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าข้าวเหนียวมะม่วงในไทยมีที่มาอย่างไร[7] บ้างสันนิษฐานว่าข้าวเหนียวมะม่วงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ระบุว่า "หวนห่วงม่วงหมอนทอง อีกอกร่องรสโอชา คิดความยามนิทรา อุราแนบแอบอกอร" เป็นการเอ่ยถึงมะม่วงอกร่องแต่ไม่ได้ระบุว่าทานกับข้าวเหนียว[8] ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการกินข้าวเหนียวมูนคู่กับมะม่วงสุก[9] บ้างก็ว่าข้าวเหนียวมะม่วงเพิ่งมีมาไม่ถึงร้อยปี[10] แม้ว่าข้าวเหนียวมะม่วงมีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย[4][3][2][11] แต่ก็พบในหลายประเทศทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้[11]

ในฟิลิปปินส์ ข้าวเหนียวมะม่วงเรียกว่า ปูโตมายา (Puto Maya) มีต้นกำเนิดจากจังหวัดเซบู ประกอบด้วยข้าวเหนียว น้ำขิงสดและน้ำกะทิ มักห่อด้วยใบตองรูปสามเหลี่ยมหรือกลม เสิร์ฟพร้อมมะม่วงสุกหั่นอยู่ด้านข้าง[12] กินกับช็อกโกแลตร้อน[13] ในกัมพูชา ข้าวเหนียวมะม่วงเรียกว่า เบย์ดอมเนิบ (Bey Dom Neib) ส่วนข้าวเหนียวใช้ส่วนผสมข้าวเหนียวกับน้ำตาลปี๊บ บางสูตรมีส่วนผสมของถั่วดำอยู่ในข้าว ราดด้วยน้ำกะทิที่ชุ่มกว่าข้าวเหนียวมะม่วงไทย[14] ข้าวเหนียวมะม่วงในประเทศลาวเรียกว่า ข้าวเหนียวหมากม่วง ในเวียดนามเรียกว่า Xôi Xoài[15]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทย

[แก้]

ในช่วง พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา วลี ข้าวเหนียวมะม่วง เคยถูกใช้เป็นสแลงทางการเมืองแปลว่า "การถูกบังคับให้เสียชีวิตอย่างปริศนาโดยผู้มีอำนาจ"[16] ซึ่งเกิดจากข่าวการเสียชีวิตของพลเอก กฤษณ์ สีวะรา อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของเสนีย์ ปราโมช กฤษณ์เป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจทางทหารที่ขัดกันกับกลุ่มอำนาจทหารของถนอม กิตติขจร กฤษณ์เสียชีวิตในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2519 หลังรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ด้วยอาการ ‘ท้องเฟ้อ’ หลังจากเล่นกอล์ฟ และรับประทานข้าวเหนียวมะม่วง เขาเสียชีวิตในวันก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[16] วลี ข้าวเหนียวมะม่วง จึงถูกนำมาใช้เรียกเหตุการณ์การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ที่มีการตั้งข้อสงสัยทั่วไปว่าเกิดจากการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองของถนอมซึ่งเป็นคู่แข่งทางอำนาจและการเมือง[16][17]

ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2565 แร็ปเปอร์ชาวไทย มิลลิ ขึ้นแสดงดนตรีในเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้แสดงในเทศกาลนี้[18][19] ในช่วงท้ายของการแสดง เธอกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที นำไปสู่เกิดกระแสการสั่งซื้อของหวานจานดังกล่าวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ผู้ให้บริการขนส่งอาหารรายหนึ่งระบุกับ สนุกดอตคอม ว่ามียอดสั่งซื้อข้าวเหนียวมะม่วงเพิ่มขึ้นเท่าตัวในวันนั้น[20] และมีร้านจำหน่ายข้าวเหนียวมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครรายงานกับไทยรัฐว่าต้องเตรียมข้าวเหนียวเพิ่มถึง 30 กิโลกรัมเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากกระแสข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ[21] นอกจากนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากประเทศไทย เข้าไปค้นหาในกูเกิลด้วยคีย์เวิร์ดชื่ออาหารดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นด้วย[22]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "10 สูตร "เมนูมะม่วง" ทั้งคาวทั้งหวานกินได้หลายสไตล์ ต้อนรับหน้าร้อน! on wongnai.com". www.wongnai.com.
  2. 2.0 2.1 "History of Mango Sticky Rice". Julee Ho Media. สืบค้นเมื่อ 19 April 2022.
  3. 3.0 3.1 "What Is Mango Sticky Rice?". wiseGEEK. สืบค้นเมื่อ 29 May 2015.
  4. 4.0 4.1 Hong-Jun, Chena; Shao-Yu, Chena; Puttongsirib, Tongchai; Pinsirodomb, Praphan; Changa, Yi-Huang; Chih, Cheng (22 March 2018). "production of low calories sticky rice with coconut milk". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-20. สืบค้นเมื่อ 2022-04-18.
  5. "'ก.พานิช' 94 ปีแห่งการสืบทอด 'ข้าวเหนียวมูน' ตำรับโบราณ". กรุงเทพธุรกิจ.
  6. "สนามข่าวชวนกิน : พาไปชิม! ข้าวเหนียวมะม่วง ป้าใหญ่ ป้าเล็ก". ข่าวช่อง 7HD. 2018-03-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2022-04-18.
  7. ข้าวเหนียวมะม่วง จับคู่ความต่างให้กลายเป็นความอร่อย. โครงการรสไทยแท้. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2565.
  8. "ย้อนรอยที่มา 'ข้าวเหนียวมะม่วง' ขนมหวานเลื่องชื่อของไทย". ช่อง 8.
  9. "ร้านอาหาร-เพจดัง รับกระแส 'ข้าวเหนียวมะม่วง' เผย สมัยร.2 เรียก 'ข้าวเหนียวใส่สีโศก'". มติชน.
  10. "นักประวัติศาสตร์ชี้'ข้าวเหนียวมะม่วง'เป็นนวัตกรรมใหม่ยุครัตนโกสินทร์". แนวหน้า.
  11. 11.0 11.1 "Mango Sticky Rice: This Classic Thai Dessert Screams Summer (Recipe Inside)". NDTV Food (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 19 April 2022.
  12. "Puto Maya and Sikwate". AN ELITE CAFEMEDIA FOOD PUBLISHER.
  13. Dizon, Erika (August 16, 2017). "Ever Wonder Why Puto Bumbong Is Violet? (It's Not Ube)". Spot.ph (ภาษาอังกฤษ).{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "8 เรื่องที่น่าสนใจ "ข้าวเหนียวมะม่วงไทย" ปังกว่าที่คิด".
  15. "รายงานพิเศษ: เหตุใด "ข้าวเหนียวมะม่วง" จึง "สุดปัง" ทุกยุคในร้านไทยในสหรัฐฯ". วีโอเอไทย.
  16. 16.0 16.1 16.2 "รู้หรือไม่ ยุคหนึ่ง 'ข้าวเหนียวมะม่วง' คือศัพท์ทางการเมืองไทย ที่ความหมายเท่ากับ 'ถูกทำให้ตาย'". The Momentum. 2022-04-17. สืบค้นเมื่อ 2022-04-18.
  17. หมัดเหล็ก (2017-03-20). "ข้าวเหนียวมะม่วง". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2022-04-18.
  18. ""มิลลิ" สุดปัง! ศิลปินเดี่ยวไทยคนแรก ขึ้นโชว์เวทีหลัก Coachella 2022". Posttoday. 2022-04-16. สืบค้นเมื่อ 2022-04-16.
  19. "Female rapper Milli becomes first Thai artist to perform at Coachella Festival". Thai PBS World (ภาษาอังกฤษ). 2022-04-17. สืบค้นเมื่อ 2022-04-17.
  20. "ไรเดอร์เผย ยอดซื้อเพิ่มเท่าตัว หลัง "มิลลิ" โชว์กิน "ข้าวเหนียวมะม่วง" บนเวที Coachella". Sanook. 2022-04-17. สืบค้นเมื่อ 2022-04-17.
  21. "ข้าวเหนียวมะม่วงร้านดัง ยอดพุ่งรับกระแสมิลลิ". Thairath. 2022-04-17. สืบค้นเมื่อ 2022-04-17.
  22. matichon (2022-04-17). "แห่เสิร์ช 'ข้าวเหนียวมะม่วง-mango sticky rice' พุ่ง หลัง 'มิลลิ' โชว์บนเวทีโคเชลลา". มติชนออนไลน์.