[go: up one dir, main page]

24 ปี ไฟไหม้โรงกลั่นไทยออยล์ เสียหายกว่า 850 ล้านบาท สูญพนักงาน-นักรบเปลวเพลิง 7 คน

24 ปี ไฟไหม้โรงกลั่นไทยออยล์ เสียหายกว่า 850 ล้านบาท สูญพนักงาน-นักรบเปลวเพลิง 7 คน

View icon 2.2K
วันที่ 2 ธ.ค. 2566 | 17.42 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ภาพข่าว 2 ธันวาคม 2542 เพลิงไหม้คลังเก็บน้ำมันไทยออยล์

วันนี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว เริ่มต้นเดือนสุดท้ายของปี ในค่ำคืนวันที่ 2 ธันวาคม 2542 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้คลังเก็บน้ำมัน ภายในโรงกลั่นน้ำมันของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนเนื้อที่ 1,500 ไร่

เปลวเพลิงลุกไหม้และระเบิดขึ้นที่ถังน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินหมายเลข 3003 ซึ่งมีความจุทั้งสิ้น 3 ล้านลิตร แต่มีน้ำมันบรรจุเพียง 1.5 ล้านลิตร และต่อมาได้ลุกลามไปยังถังเก็บน้ำมันข้างเคียงอีก 3 ถัง คือ T-3004 , T-3005 และ T-3006 ทำให้พื้นที่ 10 ไร่ กลายเป็นทะเลเพลิง ไฟลุกท่วมท้องฟ้าสูงกว่า 300 เมตร เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว บ้านเรือนตึกแถวในรัศมี 10 เมตรได้รับความเสียหาย ประชาชนนับพันครอบครัวแตกตื่นหนีตายชุลมุน โดยเฉพาะหมู่บ้านทุ่งที่ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดโดยตรง จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย

น้ำมันเบนซินในโรงกลั่นเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้ไฟโหมแรงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นโฟมฉีดดับไฟที่มีอยู่ไม่พอ และท่อส่งโฟมของโรงกลั่นยังถูกแรงระเบิดอัดจนเสียหาย จึงต้องระดมหน่วยงานดับเพลิงจากที่ต่าง ๆ กว่า 70 แห่งมาช่วย แต่กว่าจะเพลิงจะสงบก็ใช้เวลาไปกว่า 48 ชม. หรือ 2 วันเต็ม ๆ

เหตุการณ์ครั้งนี้ ส่งผลให้พนักงานของบริษัทไทยออยล์และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 5 คน (ส่วนใหญ่ถูกไฟคลอก) นอกจากนี้ รถดับเพลิงของบริษัทไทยออยล์ยังถูกไฟไหม้ 6 คัน น้ำมันเบนซินถูกเผาไหม้รวม 24.5 ล้านลิตร ถังเก็บน้ำมันมันเสียหาย 4 ถัง ใช้โฟมในการดับเพลิงกว่า 3 แสนลิตร มูลค่าความเสียหายที่ประเมินโดยบริษัทไทยออยล์ประมาณไม่ต่ำกว่า 850 ล้านบาท

สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ รีบตรวจสอบและสรุปว่า เกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานถ่ายเทน้ำมัน ที่เข้าเวรช่วง 14.00 น. ถึง 22.00 น. วันที่เกิดเหตุ ไม่ยอมปิดวาล์วที่ถังเก็บน้ำมัน ทำให้น้ำมันล้นถังออกมา จนนำมาสู่การดำเนินคดีพนักงานบริษัท 4 คน

อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐตื่นตัวออกประกาศ พ.ร.บ.จัดตั้งโรงงาน กำหนดให้ผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการจัดตั้งโณงงานอุตสาหกรรมในไทย ต้องทำรายงานผลวิเคราะห์จากการเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นมาจากการจัดตั้งโรงงาน เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนโรงงานเก่าที่จัดตั้งมาแล้ว ต้องทำการวิเคราะห์ผลการเสี่ยงภัยนี้ด้วยในการขอต่อใบอนุญาตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง