ใช้เวลาอ่าน 2 นาที
พบกับนักวิจัยที่ใช้ Google Maps เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม
เมื่อปี 2007 Google ได้ส่งรถยนต์ขบวนแรกที่ติดตั้งกล้องถ่ายรูปออกไปทำแผนที่โลก แต่นึกไม่ถึงว่าทศวรรษต่อมาจะมีนักวิจัยที่นำเทคโนโลยี Street View มาใช้เพื่อช่วยกระตุ้นความทรงจำของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม แต่นั่นคือสิ่งที่ Anne Christine Hertz วิศวกรชีวกลศาสตร์กำลังทำอยู่
เทคโนโลยีและพลังแห่งความทรงจำ
Anne-Christine ได้พยายามพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ที่จะสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์และผู้ที่ทุกข์ทรมานจากภาวะสมองเสื่อม โดยมุ่งเน้นที่การช่วยให้ผู้ป่วยรักษาความทรงจำเก่าๆ ไว้ การสูญเสียความทรงจำเป็นผลข้างเคียงหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมที่ทำให้จิตใจของทั้งผู้ป่วยและครอบครัวบอบช้ำมากที่สุด
เธอได้สร้างต้นแบบชื่อ BikeAround ขึ้นเพื่อต่อสู้กับโรคนี้โดยใช้จักรยานฟิตเนสกับ Google Street View ให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ปั่นแบบเสมือนจริงเพื่อหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ผู้ป่วยจะต้องใส่ที่อยู่ของสถานที่ที่มีความหมายกับตน เช่น บ้านในวัยเด็ก จากนั้นก็ใช้แป้นถีบและแฮนด์จักรยานเพื่อ "ขี่ไปรอบๆ" ย่านที่ตนเคยคุ้นเคย
ทำไมไม่ดูอัลบั้มภาพเก่าๆ แทน
ความทรงจำที่คงทนที่สุดจะมีความผูกพันกับสถานที่อย่างเหนียวแน่น จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อนึกถึงความทรงจำที่สำคัญหรือเหตุการณ์ในอดีต คุณมักตั้งคำถามว่า “ฉันอยู่ที่ไหนเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้น” เป็นอย่างแรกเสมอ BikeAround ใช้ประโยชน์จากความคิดนี้โดยใช้การกระตุ้นทางจิตใจด้วยการให้ผู้ป่วยอยู่ท่ามกลางสถานที่ที่จำได้ ร่วมกับการกระตุ้นทางร่างกายด้วยการปั่นจักรยานและบังคับทิศทาง นักวิทยาศาสตร์คิดว่าการจับคู่นี้จะสร้างสารโดพามีนในสมองและสามารถส่งผลต่อการจัดการความทรงจำได้อย่างลึกซึ้ง
เส้นทางเบื้องหน้า
ผลงานการประดิษฐ์คิดค้น BikeAround ของ Anne-Christine เป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณทำให้ผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาอุปกรณ์ดังกล่าวเพิ่มเติมโดยมีเป้าหมายที่จะนำไปใช้ในศูนย์สุขภาพทั่วโลกและช่วยปรับปรุงชีวิตของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมให้ดียิ่งขึ้นด้วยการปั่นจักรยานในแต่ละครั้ง