[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระราชพิธีพรุณศาสตร์"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Dharmadana (คุย | ส่วนร่วม)
หน้าใหม่: '''พระราชพิธีพรุณศาสตร์''' เป็นพระราชพิธีขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวในราชอาณาจักรสยาม เป็นพระราชพิธีจรคือไม่มีประจําทุกปี...
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:48, 3 ธันวาคม 2566

พระราชพิธีพรุณศาสตร์ เป็นพระราชพิธีขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวในราชอาณาจักรสยาม เป็นพระราชพิธีจรคือไม่มีประจําทุกปีจะทําเฉพาะปีที่น้ำฝนแล้ง ซึ่งจะตรงกับเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติ มีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระราชพิธีทั้งพุทธและพราหมณ์ มีการสวดมนต์ตลอดเวลาเป็นการสวดอธิษฐานให้ฝนตก ไม่มีกำหนดเลิกสวดขึ้นอยู่กับเทียนชัยและถ้าฝนตกเริ่มตกจนตกมากจึงมีการดับเทียนชัย[1]

พระราชพิธีพรุณศาสตร์มีบันทึกไว้ในหนังสือ นางนพมาศ ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งในสมัยรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ บรรยายภาพพระราชพิธีนี้ในสมัยสุโขทัย ความว่า "ครั้นถึงเดือนเก้า พราหมณ์คณาจารย์ก็พร้อมกันกระทำการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ตั้งเกยสี่เกยที่ลานหน้าพระเทวสถานหลวง ประดับด้วยฉัตรธงกันกระทำด้วยหญ้าคาตีนนก อ่างทองสัตตโลหะสี่อ่าง"[2]

ปัจจุบันได้มีการยกเลิกพระราชพิธีพรุณศาสตร์นี้ไปแล้ว ส่วนพิธีทางราษฎร์ในลักษณะขอฝน เช่น พิธีแห่นางแมว ในกลุ่มชาวอีสานมีประเพณีบุญบั้งไฟ[3]

พระราชพิธี

พระราชพิธีพรุณศาสตร์ทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการประดิษฐาน พระพุทธคันธารราษฎร์ สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นประธานในปะรำพิธี จนในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการย้ายออกไปทำที่พลับพลาท้องสนามหลวง ซึ่งยังมีการโยงสายสิญจน์เข้ามาที่พระมหามณีรัตนปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[4] หน้าพลับพลากลางแจ้งมีสระสี่เหลี่ยม กว้างสี่ศอก ยาวสี่ศอก ลึกหนึ่งศอก พูนดินเป็นคันรอบสูงศอกหนึ่ง ปั้นรูปพระสุภูตินั่งริมฝั่งสระหันหน้าไปข้างเหนือ ที่กลางสระมีรูปพระอินทร์ และพญาปลาช่อนพร้อมบริวาร จากนั้นผู้ประกอบพิธีสวดสุภูติเถรคาถา[5]

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์แต่แยกกันทําพิธีคนละสถานที่ พิธีสงฆ์มีผู้ประกอบพิธีหลักคือพระสงฆ์ ประกอบพิธีที่สนามหลวง แต่พิธีพราหมณ์ทำพิธีที่ทุ่งส้มป่อยโดยมีหัวหน้าพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี ในการประกอบพิธีพรุณศาสตร์ที่สนามหลวง ห้ามสตรีเข้าร่วมพิธีเพราะจะทำให้พิธีไม่สัมฤทธิผล[6]

บางปีก็ยกขึ้นไปตั้งที่อยุธยา ในรัชกาลที่ 5 เคยยกขึ้นไปตั้งพลับพลาที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติครั้งหนึ่ง[7]

อ้างอิง

  1. "พระราชพิธี ๑๒ เดือน ที่เกี่ยวเนื่องกับความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
  2. กิเลน ประลองเชิง. "เดือนเก้า พิธีปั้นเมฆ". ไทยรัฐ.
  3. "พระราชพิธีและประเพณีท้องถิ่น". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  4. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชพิธี 12 เดือน (กรุงเทพ : แพร่พิทยา, 2514), 515.
  5. เพ็ญสุภา สุขคตะ. "นานาพิธีขอฝน : จากพระสุภูติ พระเจ้าฝนแสนห่า ถึงบูชาเสาอินทขีล". มติชนสุดสัปดาห์.
  6. ณัฐนรินทร์ เมธีวุฒินันทน์ ภาณุภัทรธนวัฒน์. "การศึกษาพิธีกรรมเกี่ยวกับ "น้ำ" ในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว".
  7. "พระราชพิธีพรุณศาสตร์". วัชรญาณ.