[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
วรุฒ หิ่มสาใจ (คุย | ส่วนร่วม)
ป้ายระบุ: แก้ไขด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขด้วยเว็บอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขขั้นสูงด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่
วรุฒ หิ่มสาใจ (คุย | ส่วนร่วม)
ป้ายระบุ: แก้ไขด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขด้วยเว็บอุปกรณ์เคลื่อนที่ แก้ไขขั้นสูงด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่
บรรทัด 252: บรรทัด 252:


=== เพลงเฉลิมพระเกียรติ ===
=== เพลงเฉลิมพระเกียรติ ===
ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้มีการแต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติขึ้นมาทั้งหมด 2 เพลงได้แก่
{{โครงส่วน|date=กันยายน 2024}}


==== ปณิธานของใจ ====
==== ปณิธานของใจ ====
เพลง '''ปณิธานของใจ''' เป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประพันธ์คำร้องโดย[[วิเชียร ตันติพิมลพันธ์]] ทำนองโดยสราวุธ เลิศปัญญานุช ขับร้องโดย ศรัณย์ คุ้งบรรพต<ref>{{cite news|URL=https://news.ch7.com/detail/743117|title=บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ แต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในชื่อ ปณิธานของใจ|website=[[ช่อง 7 HD]]|date=28 กรกฎาคม 2024|access-date=25 กันยายน 2024}}</ref>


==== ตามรอยความดี ====
==== ตามรอยความดี ====

รุ่นแก้ไขเมื่อ 18:58, 25 กันยายน 2567

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ตราสัญลักษณ์
วันที่28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
ประเทศประเทศไทย
เหตุการณ์ก่อนหน้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ผู้เข้าร่วม
จัดโดยรัฐบาลไทย

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ (อังกฤษ: The Celebrations on the Auspicious Occasion of His Majesty the King's 6th Cycle Birthday Anniversary, July 28th, 2024) เป็นชื่องานฉลองที่ประกอบด้วยพระราชพิธี รัฐพิธี และราษฎรพิธี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (72 พรรษา) ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 โดยเป็นพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบปีนักษัตรครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน ร่วมกันจัดขึ้นโดยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน และประชาชนชาวไทย

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐานัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ[1] ต่อมาเศรษฐาได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ในอีก 5 วันถัดมา และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 โดยมีองค์ประกอบดังนี้[2]

พระราชพิธี

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567

เวลา 17.12 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ โดยเสด็จในการนี้ด้วย ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพานทองสองชั้น บูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิ และพระอัฐิ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา และทรงจุดธุปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยาราชาวดี จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยารอง และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย กราบถวายบังคมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิของอดีตพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ข้าวต้น รวมถึง สมเด็จพระศรีสุลาลัย (พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 3) ซึ่งประดิษฐานที่พระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้น พระสงฆ์ 27 รูป สวดพระพุทธมนต์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์พระราชทานแก่เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปปักที่จงกลธรรมธรรมาสน์ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร สำหรับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงธรรม ทรงศีล สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนา เรื่อง “ทุลลภธรรมกถา” จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตร จำนวน 2 เที่ยว เที่ยวละ 14 ไตร พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์ และถวายพระธรรมเทศนา สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ และพระอัฐิเสร็จแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วเสด็จฯไปทรงกราบพระพุทธรูปประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิ และพระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา และทรงกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ[3]

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคมทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลในในนามพระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในนามคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชน, วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในนามรัฐสภา และ อโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา ในนามข้าราชการฝ่ายตุลาการ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระเต้าปทุมนิมิตทอง นาก เงิน บรรจุน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ตามลำดับ[4]

จบแล้ว พระราชดำรัส มีความว่า

ท่านทั้งหลายผู้มีความรักในชาติบ้านเมือง ย่อมปรารถนาให้ชาติบ้านเมืองมีความผาสุกมั่นคง และประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ในการนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่าน ผู้อยู่ในตำแหน่งสำคัญของชาติ จะต้องบำเพ็ญกรณียกิจทุกอย่าง โดยมีเป้าหมายสูงสุดเป็นอย่างเดียวกัน คือให้ประเทศชาติมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างยั่งยืน อันจะทำให้ประชาชนทุกคนในชาติ มีความสุขความเจริญและความมั่นคงในชีวิตอย่างแท้จริง หากทุกท่านทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันในข้อนี้ แล้วตั้งใจปฏิบัติภาระหน้าที่ของตน ให้บรรลุผลเป็นประโยชน์สูงสุด งานของชาติก็จะดำเนินไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง.[5]

— พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เวลา 17.20 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเสด็จในการนี้ด้วย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นชานหน้าพระอุโบสถ ทรงประเคนสัญญาบัตร พัดยศ ผ้าไตร แด่บรรพชิตจีน จำนวน 10 รูป และบรรพชิตญวน จำนวน 9 รูป ที่ได้ทรงตั้งสมณศักดิ์ใหม่ และทรงประเคนพัดรองที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แด่บรรพชิตจีนและญวน ทรงรับการถวายพระพรของบรรพชิตจีนและญวณ แล้วเสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แด่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ จำนวน 5 รูป จากนั้น ทรงจุดเทียนพระมหามงคลที่ตั้งอยู่บนธรรมาสน์ศิลา เทียนเท่าพระองค์ในตู้ข้างธรรมาสน์ศิลาด้านพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เทียนเท่าพระองค์ในตู้ข้างธรรมาสน์ศิลา ด้านพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย เสร็จแล้ว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ที่หน้าธรรมาสน์ศิลา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ แล้วประทับพระราชอาสน์ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ประธานพระครูพราหมณ์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใบสมิต ช่อที่ 1 ทรงรับแล้วทรงปัดพระกรซ้าย ทรงรับใบสมิต ช่อที่ 2 แล้วทรงปัดพระกรขวา ทรงรับใบสมิต ช่อที่ 3 แล้วทรงปัดพระอุระจนถึงพระบาท แล้วทรงรับน้ำเทพมนตร์ด้วยพระมหาสังข์พิธีพราหมณ์และทรงแตะที่พระนลาฏ ทรงรับใบมะตูม ทรงทัดที่พระกรรณขวา จากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนที่โต๊ะหน้าอาสน์สงฆ์ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ และทรงจุดเทียนที่บัตรเทวดานพเคราะห์บนแท่นซึ่งตั้งอยู่ตรงพระทวารกลาง เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมพระศิวลึงค์ทองคำ ประธานพระครูพราหมณ์ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระศิวลึงค์ทองคำ แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสด็จลงชานหน้าพระอุโบสถพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้สูงอายุฝ่ายหน้า ฝ่ายใน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานราชสังคหวัตถุ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

เวลา 17.54 น. เสด็จเข้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วประทับพระราชอาสน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล จากนั้น ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ พระราชทานใบมะตูม และทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 2 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประเคนหิรัญบัฏ พัดยศและเครื่องประกอบสมณศักดิ์แด่พระราชาคณะเจ้าคณะรอง และทรงประเคนสัญญาบัตร พัดยศ แด่พระสงฆ์ที่ได้ทรงตั้งสมณศักดิ์ใหม่ ตามลำดับ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว พระราชทานสัญญาบัตรแก่พระครูพราหมณ์ประจำพระราชสำนัก ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประเคนพัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) และสมเด็จพระราชาคณะ จากนั้น ทรงประเคนพัดรองที่ระลึกฯ แด่พระราชาคณะเจ้าคณะรอง และพระราชาคณะ จำนวน 73 รูป เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดเทียนพระมหามงคลที่พระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เทียนเท่าพระองค์ในตู้ข้างพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ธูปเทียนบูชาพระพุทธรูป เทวรูปเทวดานพเคราะห์องค์อภิบาลพระชนมพรรษา จากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพานทองสองชั้น บูชาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลที่ 9 และพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9 ที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ ทรงศีล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ถวายศีล จบแล้ว พระสงฆ์ 73 รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบททำน้ำพระพุทธมนต์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนที่ฝาครอบพระกริ่งปวเรศ จากนั้น ทรงประเคนพระครอบพระกริ่งปวเรศแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จบแล้ว ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการหน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงรับการถวายความเคารพของผู้ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ[6]

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567

เวลา 10.15 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในการพระราชกุศลเลี้ยงพระ เทศน์มงคลวิเศษ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าฯ รับเสด็จ ครั้นเสด็จฯ ถึงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป เทวรูปเทวดานพเคราะห์องค์อภิบาลพระชนมพรรษา ด้านพระราชอาสน์ และด้านพระบรมวงศ์เฝ้าฯ เสร็จแล้ว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพานทองสองชั้น บูชาพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 9 และพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร รัชกาลที่ 9 ที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ จากนั้น ประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 73 รูป และพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ 5 รูป ถวายพรพระ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนปิ่นโตภัตตาหารแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ปิ่นโตภัตตาหารนอกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ฯ ให้ พระราชวงศ์ องคมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ประเคนจนครบ 78 รูป เสร็จแล้ว ทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์พระราชทานแก่เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปปักที่จงกลธรรมมาสน์ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ กัณฑ์ 1 เรื่อง “พระมงคลวิเสสกถา” จบแล้ว พระสงฆ์ถวายพระพรคาถาพิเศษ เสร็จแล้ว ทรงพระราชอุทิศปล่อยปลา ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล เสด็จไปทรงปล่อยปลา ณ ท่าราชวรดิฐ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์แด่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง และพระราชาคณะ จนครบ 78 รูป ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วเสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เสด็จพระราชดำเนินกลับ[7]

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567

เวลา 17.22 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทูตานุทูตและผู้แทนฝ่ายกงสุล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยืนบนพระแท่นออกขุนนางหน้าพระที่นั่งพุดตานถม ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พันโทสมชาย กาญจนมณี รองเลขาธิการพระราชวัง ปฏิบัติหน้าที่สมุหพระราชมณเฑียร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลเบิก ดาตุกโจจี แซมูเอล เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย คณบดีคณะทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบความว่า

ท่านเอกอัครราชทูต ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายมาชุมนุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ เพื่ออำนวยพรด้วยความปรารถนาดี ในวันเกิดครบ 6 รอบของข้าพเจ้า ขอสนองพรและ ไมตรีจิตของทุกท่าน ด้วยความจริงใจเช่นเดียวกัน คำอำนวยพรที่ท่านคณบดีคณะทูตได้กล่าวในนามของคณะทูตานุทูต กงสุลต่างประเทศ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศของเรา ให้งอกงามแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นนั้น น่าประทับใจอย่างยิ่ง ประเทศไทยเรามีนโยบายอันแน่นอนเสมอมาที่จะจรรโลงรักษาสัมพันธไมตรีและให้ความร่วมมือกับประเทศผู้เป็นมิตรทั้งปวง เพราะหากนานาประเทศได้ประสานความร่วมมือกัน ด้วยความเมตตาจริงใจและความเคารพนับถือซึ่งกันและกันแล้วมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างชาติและความผาสุกสงบอันยั่งยืน ก็จะดำรงมั่นคงอยู่ในโลกได้อย่างแท้จริง ข้าพเจ้าจึงใคร่จะกล่าวยืนยันแก่ทุกท่าน ถึงศรัทธาความเชื่อมั่นอันไม่เสื่อมคลายนี้ ทั้งจะพยายามส่งเสริมสัมพันธไมตรีที่มีอยู่ ให้ยิ่งเจริญงอกงามและธำรงยั่งยืนสืบไป ขออำนวยพรให้ท่านและครอบครัวมีความสุขความเจริญ และความสำเร็จในภาระหน้าที่ทุกอย่าง ทั้งขอให้ประเทศและประชากรซึ่งท่านเป็นผู้แทนอยู่ในราชอาณาจักรนี้ มีความรุ่งเรืองไพบูลย์ตลอดไป

จบแล้วพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับคณะทูตานุทูตและผู้แทนฝ่ายกงสุล สมควรแก่เวลา เสด็จลงมุขหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ[8]

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2567

สำนักพระราชวังและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ จัดตกแต่ง สะพานฉนวนประจำท่าวาสุกรี ท่าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และบริเวณท้องน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นทาง และเตรียมกำลังพลไว้พร้อมทุกตำแหน่งหน้าที่  เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เทียบสะพานฉนวนท่าวาสุกรี เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง

เวลา 15.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าวาสุกรี ณ ที่นั้น องคมนตรี นายกรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯ รับเสด็จ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้บัญชาการขบวนเสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนเรือและกำลังพล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ขณะนั้นกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานบัญชีกำลังพลประจำเรือ นายเรือ พระที่นั่งสุพรรณหงส์กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวนพยุหยาตรา เมื่อพร้อมแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคออกจากท่าวาสุกรี ไปตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา เจ้าพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปีและ กลองชนะประจำเรือพระราชพิธีประโคมขึ้นพร้อมกัน ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเคลื่อนไปตามลำดับ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพล

เมื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เทียบเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชที่สะพาน ฉนวนน้ำหน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญผ้าพระกฐินจากบุษบกไปยังพระอุโบสถแล้ว เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เข้าเทียบท่าฉนวนน้ำหน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตรงพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธามิลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับผ้าไตรจากเจ้าพนักงานพระราชพิธี เสด็จฯ ไปถวาย ผ้าพระกฐิน ณ ที่ชุมนุมสงฆ์ตามพิธีกรรมราชประเพณีเสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระอุโบสถไปถวาย ราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายนพรัตน์ ผู้เข้าเฝ้า ฯ แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายสูงสุด[9]

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2567

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากสนามเฮลิคอปเตอร์พระลานพระราชวังดุสิต ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราววิทยาลัยการอาชีพสระบุรี อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราววิทยาลัยการอาชีพสระบุรี ไปยังวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับผ้าไตร จากเจ้าพนักงานพระราชพิธี ทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้า ทรงถวายต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน พระพุทธปฏิมา พระประธานพระอุโบสถ เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐิน ณ ที่ชุมนุมสงฆ์ตามพิธีกรรมราชประเพณี เสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระอุโบสถขึ้นพระมณฑปรอยพระพุทธบาท ทรงสักการะพระมกุฏพันธนเจดีย์ พระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นเสด็จเข้าพระมณฑปรอยพระพุทธบาท ทรงสักการะรอยพระพุทธบาทแล้ว ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราววิทยาลัยการอาชีพสระบุรี

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ประทับเฮลิคอปเตอร์ พระที่นั่งจากสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราววิทยาลัยการอาชีพสระบุรี เสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายมหาจักรี ผู้เข้าเฝ้า ฯ แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายสูงสุด[9]

รัฐพิธี

รัฐบาลไทยได้เตรียมการจัดรัฐพิธี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ

สำหรับภาคประชาชน รัฐบาลไทยได้กำหนดขอบเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 โดยมีการผลิตและเผยแพร่สารคดี ข้อมูล ภาพประกอบ และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ[11] เช่น การจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย, การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล, การจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน, พิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล, การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล, การจัดพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา, การจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ และการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นต้น[12]

การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก

รัฐบาลไทยได้จัดพิธีสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า และพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก ได้แก่พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "พระธาตุกบิลพัสดุ์" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 19 มีนาคม พ.ศ. 2567 โดยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพิพิธภัณฑ์กรุงนิวเดลี และพระอรหันตธาตุจากพุทธวิหาร สถูปสาญจี รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่ประเทศไทย ตามโครงการ "ธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง" ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 2,567 ปี ที่มีการจัดพิธีสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวกพร้อมกัน[13][14]

การประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร

รัฐบาลอินเดียได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุออกจากท่าอากาศยานกองทัพอากาศปาลาม ประเทศอินเดีย[15] มายังท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ใกล้กับท่าอากาศยานดอนเมือง และกระทรวงวัฒนธรรมได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์[16] จากนั้นในวันถัดมา (23 กุมภาพันธ์) เวลา 16:00 น. มีการจัดริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง และเมื่อเวลา 17:00 น. มีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุขึ้นประดิษฐานบนมณฑปที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส[17] โดยพิธีนี้มีการถ่ายทอดสดทางช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี และเอ็นบีที 2 เอชดี[18]

จากนั้นรัฐบาลไทยได้เปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า และพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา จนถึง 3 มีนาคม เวลา 09:00 - 20:00 น.[19] ก่อนขยายเวลาเพิ่มตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นเวลา 08:00 - 21:00 น.[20] และวันที่ 2 และ 3 มีนาคม เป็นเวลา 07:00 - 21:00 น. ตามลำดับ[21] ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะ พร้อมทั้งพระราชทานไฟประจำทั้งมณฑปหลักบริเวณท้องสนามหลวง และมณฑปส่วนภูมิภาคทั้ง 3 แห่ง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 09:00 น.[22]

การประดิษฐานในส่วนภูมิภาค

หลังจากเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุในกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลไทยจะอัญเชิญไปประดิษฐานใน 3 จังหวัดส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในส่วนภูมิภาคได้เข้าสักการะบูชา ได้แก่[19]

โดยเปิดให้ประชาชนสักการะตั้งแต่เวลา 09:00 - 20:00 น. ของทุกวัน และตั้งแต่เวลา 17:00 น. ของแต่ละวัน มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชน[19] และหลังจากนั้นในวันที่ 19 มีนาคม ได้จัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุกลับมายังกรุงเทพมหานคร และส่งมอบคืนให้แก่รัฐบาลอินเดีย[23]

พิธีจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์

วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เวลา 14:59 น. กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วราชอาณาจักร ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ จำนวน 107 แหล่ง ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกับที่เคยใช้ทำน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อนำมาจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ[24] จากนั้นได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์มาประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระอารามสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม[25] และจัดพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ในเวลาเที่ยงของวันที่ 8 กรกฎาคม[26] ก่อนทั้ง 76 จังหวัดจะส่งคนโทน้ำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม[27] ส่วนกรุงเทพมหานครได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง และนำไปเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทยทันทีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม[28] จากนั้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ได้เชิญคนโทน้ำของทั้ง 76 จังหวัด รวมถึงของกรุงเทพมหานคร ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร[29] และประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์รวมเมื่อเวลา 15:20 น. โดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส[30]

พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์

เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เหล่าทัพโดย กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาเชิญเสด็จพระราชดำเนินในพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ เป็นครั้งแรกในรัชกาล

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2567

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอัมพรสถานทางประตูภูธรลีลาศ ไปยังพระลานพระราชวังดุสิต รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนไปตามพระลานพระราชวังดุสิตหน้าแถวทหารรักษาพระองค์ ทรงตรวจพล สวนสนาม รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หน้าพลับพลา ประทับพระราชอาสน์ หน่วยทหารรักษาพระองค์ เดินแถวในรูปขบวนสวนสนาม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับยืนที่มุขหน้าพลับพลา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี องค์ผู้บัญชาการกองผสมสวนสนาม เดินแถวสวนสนามผ่าน พลับพลาที่ประทับแล้ว เสด็จขึ้นมุขหน้าพลับพลา หน่วยทหารรักษาพระองค์สวนสนามแล้ว กลับประจำที่เดิม ครบทุกหน่วย ประทับพระราชอาสน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กราบบังคมทูลพระกรุณา ถวายพระพรชัยมงคล จบแล้ว เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ แล้วกล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณตน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท เสด็จลงจากพลับพลาไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

การแต่งกาย แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายรามาธิบดี ผู้เข้าเฝ้า ฯ แต่งเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายสูงสุด[10][9]

ตราสัญลักษณ์

ตราสัญลักษณ์ของพระราชพิธีนี้ ประกอบด้วย อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ตรงกลาง อักษร ว ใช้สีขาวนวล สีแห่งวันจันทร์วันพระบรมราชสมภพ ตามคติมหาทักษา อักษร ป ใช้สีเหลือง วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และอักษร ร ใช้สีฟ้า วันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อยู่บนรูปทรงของเพชร อันหมายถึง พระปรมาภิไธย “มหาวชิราลงกรณ” เพชรสีขาบ (สีน้ำเงินแก่อมม่วง) อันเป็นสีของพระมหากษัตริย์ ภายนอกกรอบของเพชร ประกอบด้วยแถบสีเขียว ซึ่งเป็นสีแห่งเดชวันพระบรมราชสมภพ ประดับด้วยเพชร 72 เม็ด หมายถึง พระชนมพรรษา 72 พรรษา

เบื้องบนของตราสัญลักษณ์ ประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ แสดงถึงการทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพแผ่กระจายไปไกลทั่วทุกหนแห่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ทั่วทั้งแผ่นดิน ยอดจงกลฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์ ดอกจำปาทองห้อยระบายชั้นล่างนพปฎลมหาเศวตฉัตร 8 ดอก หมายถึง พระบารมีแผ่ไปทั่วทั้ง 8 ทิศ เลข ๑๐ ไทย ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

เบื้องล่างปลายแถบแพร เบื้องขวามีรูปคชสีห์กายสีม่วงชมพูประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดิน เบื้องล่างประกอบด้วยลวดลายพญานาคกายสีเขียว อันแสดงถึงนักษัตรปีมะโรงอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ แพรแถบสีส้มขลิบทองซึ่งเป็นสีแห่งมูละของวันพระบรมราชสมภพ ภายในแพรแถบมีข้อความว่า "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗" ใต้อักษรพระปรมาภิไธย ประกอบด้วยตัวเลข ๗๒ ไทย หมายถึงพระชนมพรรษา ลวดลายเฟื่องอุบะและลวดลายดอกรวงผึ้ง ดอกไม้ประจำพระองค์มีสีทอง อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนและประเทศชาติ[31]

การใช้ตราสัญลักษณ์

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้ขอความร่วมมือให้สถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยทุกช่องแสดงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีนี้ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 00:01 น. และให้แสดงตราสัญลักษณ์นี้ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2567 นั่นคือ ให้แสดงจนถึงวันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 23:59 น.[32]

การมอบตราสัญลักษณ์

รัฐบาลไทยได้จัดพิธีมอบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 16:00 น. โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติฯ การจัดงานในครั้งนี้และมอบให้แก่หน่วยงานของรัฐบาล 19 กระทรวง สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด (ผ่านระบบ ZOOM) และสื่อมวลชน 35 หน่วย[33]

สิ่งที่ระลึก

สถานที่

สะพานทศมราชัน สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเส้นทางทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ซึ่งรัฐบาลพิจารณาให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการออกแบบสะพานให้สื่อถึงพระองค์ในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้[34][35]

  • ชื่อสะพาน "ทศมราชัน" เป็นชื่อพระราชทาน หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10
  • ยอดเสาสะพาน เปรียบเสมือนฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์
  • ตราพระปรมาภิไธยย่อ วปร.
  • สายเคเบิลสีเหลือง สีประจำวันจันทร์ วันพระบรมราชสมภพของพระองค์
  • ประติมากรรมพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมะโรง นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพของพระองค์ คือ พ.ศ. 2495
  • เสาขึงรั้วกันกระโดด สื่อถึงต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์

โดยกำหนดเดิม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสะพานทศมราชันในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งตรงกับช่วงพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ[35] แต่ต่อมาได้เลื่อนออกไปเปิดในเดือนตุลาคมแทน เนื่องจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ดูแลสะพานนี้ อยู่ระหว่างจัดทำป้ายตราพระปรมาภิไธยและป้ายชื่อสะพาน และการก่อสร้างทางขึ้นลงฝั่งสุขสวัสดิ์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์[36]

เพลงเฉลิมพระเกียรติ

ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้มีการแต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติขึ้นมาทั้งหมด 2 เพลงได้แก่

ปณิธานของใจ

เพลง ปณิธานของใจ เป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประพันธ์คำร้องโดยวิเชียร ตันติพิมลพันธ์ ทำนองโดยสราวุธ เลิศปัญญานุช ขับร้องโดย ศรัณย์ คุ้งบรรพต[37]

ตามรอยความดี

เพลง ตามรอยความดี เป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท จีเอ็มเอ็มมิวสิค จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยทั้งประเทศร่วมใจกันทำความดี ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประพันธ์คำร้อง–ทำนองโดย ตู๋ ปิติ ลิ้มเจริญ และเรียบเรียงเสียงประสานโดย สราวุธ เลิศปัญญานุช ขับร้องโดยธงไชย แมคอินไตย์, ใหม่ เจริญปุระ, รัดเกล้า อามระดิษ, พลพล พลกองเส็ง เป็นต้น[38]

เหรียญและแพรแถบที่ระลึก

เหรียญราชอิสริยาภรณ์ ลักษณะเป็นเหรียญกลม ขนาดเส้นผ่าน ศูนย์กลาง ๓๒ มิลลิเมตร ทําด้วยเงิน ด้านหน้ากลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบ เต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ด้านหน้าขอบนอกเหรียญเบื้องบนมีเลข ๑๐ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องหลังประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เบื้องล่างด้านขวามีเลข ๗ ด้านซ้ายมีเลข ๒ ด้านหลังขอบนอกเหรียญ มีห่วงสําหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง ๓๒ มิลลิเมตร พื้นของแพรแถบเป็นสีขาวนวล หมายถึง น้ำพระราชหฤทัยอันบริสุทธิ์ผุดผ่องประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่เปี่ยมล้น ที่พระองค์มอบสู่พสกนิกรของพระองค์ ทั้งสองข้างมีริ้วสีเหลืองข้างละ ๒ ริ้ว สีเหลืองเป็นสีประจําวัน พระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ และมีริ้วสีม่วงข้างละ ๑ ริ้ว ริ้วสีม่วงเป็นสีประจําวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงเคียงคู่บุญบารมีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สําหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าวผูกเป็นรูปแมลงปอ[39]

แพรแถบเหรียญราชอิสริยาภรณ์

เข็มที่ระลึก

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานเดียวที่ดำเนินการจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ฯ สำหรับจำหน่ายให้แก่ประชาชนเพื่อใช้ประดับ และเก็บไว้เป็นที่ระลึกในราคาเข็มละ 300 บาท โดยนำเงินรายได้ภายหลังหักค่าใช้จ่าย เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ฯ ได้จัดทำโดยช่างฝีมือผู้มีความชำนาญ จัดทำด้วยความประณีต ละเอียดอ่อน สวยงาม สมพระเกียรติ และมีคุณค่า เหมาะสำหรับเก็บไว้เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ทั้งนี้ สามารถสั่งจองได้ที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป โดยจองผ่านเว็บไซต์ Thailandpostmart.com หรือที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ซึ่งผู้สั่งจองจะได้รับเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ฯ ประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567[40]

และในการนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับบิ๊กซี จำหน่ายเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ฯ ให้กับประชาชนทั่วไปในราคาเข็มละ 300 บาท โดยเริ่มจำหน่ายที่บิ๊กซี 208 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป และสามารถสั่งจองได้ที่บิ๊กซีมินิทุกสาขาทั่วประเทศ (โดยสั่งจองล่วงหน้า 7 วัน)

เสื้อโปโลสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ ฯ

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดสั่งจองเสื้อโปโลสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ฯ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2567 อีกทั้งยังมีการอนุญาตให้ผลิตเสื้อโปโลสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ซึ่งตอนนี้มีร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้จัดทำเสื้อประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ อย่างแพร่หลาย เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อได้ตามสะดวก

แสตมป์พระราชพิธี

รอประกาศอย่างเป็นทางการจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ธนบัตรที่ระลึก

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการออกใช้ธนบัตรที่ระลึก เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสแลกธนบัตรไว้เป็นที่ระลึก และมีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดี โดย ธปท. จัดทำธนบัตรที่ระลึกในชนิดราคา 100 บาท จำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านฉบับ ออกแบบธนบัตรเป็นแนวตั้ง เพื่อให้พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความโดดเด่น งดงาม มีความพิเศษแตกต่างจากธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป และจัดพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง บนวัสดุพอลิเมอร์ เพื่อให้มีความทนทาน รวมทั้งมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอย่างครบถ้วนธนบัตรที่ระลึกนี้สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยจ่ายแลกในราคาฉบับละ 100 บาท พร้อมกันนี้ ธปท. ได้จัดทำแผ่นพับสำหรับธนบัตรที่ระลึกดังกล่าว จำนวน 2 ล้านชุด เพื่อจำหน่ายในราคาชุดละ 10 บาท โดยรายได้จากการจำหน่ายแผ่นพับทั้งหมด จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อขอแลกธนบัตรที่ระลึกนี้ได้ที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

มหรสพสมโภช

รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม จัดมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ระหว่างวันที่ 11–15 กรกฎาคม ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง[41] ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงเทพยดา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เวลา 8:19 น., ริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ในพิธีเปิดงาน, นิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ, การจัดแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติฯ, การแสดงบนเวทีย่อยระหว่างเวลา 17:00–18:30 น. และ ตลาดวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นต้น[42]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "'ประชุม ครม.' แบบ 'เศรษฐาสไตล์' ข้อสั่งการมาก-ทำงานเร็ว-กำหนดเวลาตามงาน". กรุงเทพธุรกิจ. 15 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 3 ตุลาคม 2566". รัฐบาลไทย. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "บําเพ็ญพระกุศลทักษิณานุปทาน เฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง 6 รอบ เปิดให้พสกนิกรร่วมถวายพระพร". www.thairath.co.th. 2024-07-28.
  4. ปีติ ในหลวง เสด็จออกมหาสมาคม มีพระราชดำรัสขอบใจ ทรงให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศ https://www.matichon.co.th/royal-celebration/news_4705821https://royalcelebration.matichon.co.th/ceremony/2785/
  5. "พระราชดำรัส ในหลวง เสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ". www.thairath.co.th. 2024-07-28.
  6. ในหลวง เสด็จฯ ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
  7. ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ การพระราชกุศลเลี้ยงพระ เทศน์มงคลวิเศษ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
  8. "คณะทูตานุทูต ถวายพระพรชัย ณ พระที่นั่งจักรี เนื่องในโอกาส ปีติ "มหามงคล" พระชนม์ 6 รอบ". www.thairath.co.th. 2024-07-31.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 "หมายกำหนดการ ที่ ๑๗/๒๕๖๗ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. ๑๔๑ (๔๘ ข): ๑-๒๘. ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗.
  10. 10.0 10.1 เปิดกำหนดการพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณทหารรักษาพระองค์ 2567 (amarintv.com)
  11. "รัฐบาลเชิญชวนประดับธงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา6รอบปี2567". โพสต์ทูเดย์. 25 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "รัฐบาล เตรียมจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ "ในหลวง" 28 ก.ค. 2567". ไทยรัฐ. 8 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อัญเชิญ 'พระบรมสารีริกธาตุ-พระอรหันตธาตุ' จากอินเดียมาไทย". มติชน. 7 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "วธ.จัดขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุยิ่งใหญ่". ไทยรัฐ. 20 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุฯ จากอินเดียถึงไทยแล้ววันนี้". ฐานเศรษฐกิจ. 22 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. "อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ-พระอรหันตธาตุ จากอินเดียถึงไทยแล้ว (ภาพชุด)". มติชน. 22 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. "สมเด็จพระสังฆราช เสด็จอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานที่ท้องสนามหลวง". ข่าวสด. 23 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. "ถ่ายทอดสดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ สนามหลวง". ฐานเศรษฐกิจ. 23 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. 19.0 19.1 19.2 "เปิดสักการะพระบรมสารีริกธาตุ-พระอรหันตธาตุ 24 ก.พ.-3 มี.ค." ไทยพีบีเอส. 22 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. "ขยายเวลาสักการะ "พระบรมสารีริกธาตุ-พระอรหันตธาตุ" ณ ท้องสนามหลวง เป็นเวลา 08.00-21.00 น." พีพีทีวี. 27 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. "ศรัทธาหลั่งไหล ขยายเวลาไหว้พระบรมสารีริกธาตุที่สนามหลวงอีกครั้ง ใน 2 วันสุดท้าย เป็น 07.00-21.00 น." ผู้จัดการออนไลน์. 1 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. "ในหลวง ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดีย พระราชทานไฟ ณ 4 มณฑป ถวายเป็นพุทธบูชา". ไทยโพสต์. 26 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. "สร้างมงคลชีวิต 24 ก.พ.นี้ ร่วมสักการะ "พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ" ณ ท้องสนามหลวง". พีพีทีวีออนไลน์. พีพีทีวี. 20 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "กระทรวงมหาดไทยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ". พีพีทีวี. 5 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. "ทั่วประเทศจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เรียบร้อย พรุ่งนี้เตรียมสมโภช". มติชน. 7 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. "พิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ ฤกษ์ 12.00 น. วันนี้". มติชน. 8 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "เชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัด เก็บรักษาไว้ที่มหาดไทย". ไทยโพสต์. 14 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. "กทม. ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์-อัญเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์". ประชาชาติธุรกิจ. 13 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. "มหาดไทย เชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์ไปวัดโพธิ์ เตรียมประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ 16.30 น.วันนี้". ประชาชาติธุรกิจ.
  30. "นายกฯ ประธานพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ". ไทยรัฐ. 25 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  31. "โปรดเกล้าฯ ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567". มติชน. 25 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  32. "คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยแพร่ตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567". สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่. 4 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  33. "รัฐบาลจัดพิธีมอบตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567". กรมประชาสัมพันธ์. 26 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  34. "โครงการทางพิเศษสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่4". ยูทูบ. 11 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  35. 35.0 35.1 "ปลื้มปีติ! พระราชทานชื่อ "ทศมราชัน" สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ข้ามเจ้าพระยา". เดลินิวส์. 30 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  36. "ปรับแผน "สะพานทศมราชัน" เปิดปลายปีนี้ ทางขึ้น-ลงสุขสวัสดิ์ใกล้แล้วเสร็จ". เดลินิวส์. 22 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2024.
  37. "บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ แต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในชื่อ ปณิธานของใจ". ช่อง 7 HD. 28 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  38. "จีเอ็มเอ็ม มิวสิค รวมใจศิลปินชั้นนำกว่า 20 ชีวิต ร่วมถ่ายทอดบทเพลง "ตามรอยความดี" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567". ผู้จัดการออนไลน์. 25 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2024.
  39. พระราชกฤษฎีกา เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
  40. "เปิดสั่งจอง เข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว". ไทยโพสต์. 29 มีนาคม 204. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  41. "จัดใหญ่ "มหรสพสมโภช" เฉลิมพระเกียรติ "ในหลวง" ครบ 6 รอบ ณ ท้องสนามหลวง". ผู้จัดการออนไลน์. 6 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  42. "รัฐบาลจัดมหรสพสมโภชครั้งยิ่งใหญ่ 5 วันเต็ม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 11-15 ก.ค.นี้ ณ ท้องสนามหลวง". ผู้จัดการออนไลน์. 12 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ถัดไป
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
(4–6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)

พระราชพิธีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
(28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567)
รอประกาศ